บอร์ดพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติรับข้อเสนอโครงการพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ 2,016 โครงการ พร้อมเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ระยะที่ 2
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะ รองประธาน กรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวง วัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ และระบบประชุมทางไกล ออนไลน์
โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของ กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ในการรวบรวมแผนงาน โครงการด้านการ พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและเครือข่ายภาคประชาชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ในปี 2565 เพื่อนำมาจัดทำ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนพัฒนาดังกล่าว ประจำปี 2565 ซึ่งแผนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯมุ่งขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.สนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2.ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อ พฤติกรรมการใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์ เฝ้าระวัง และตรวจสอบสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
3.บูรณาการกลไก การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านการสื่อสารสาธารณะ
4.พัฒนาและบูรณาการการบังคับ ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีหน่วยงาน ที่เสนอโครงการให้คณะกรรมการฯพิจารณาสนับสนุน จำนวน 2,016 โครงการ และใช้งบประมาณ ดำเนินการจากวธ.และแต่ละหน่วยงานรวมกว่า 584 ล้านบาท
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมอบหมายวธ.เก็บรวบรวมข้อมูล เพิ่มเติม ในส่วนของจำนวนกลุ่มเป้าหมายของแต่ละโครงการ และสรุปภาพรวมนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุม มีข้อเสนอแนะการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เช่น การขยายผลการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และการเผยแพร่ผ่านสื่อหลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป TikTok การขยายผล การดำเนินโครงการแบบเจาะลึกแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน เป็นต้น รวมทั้งการมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล หน่วยงาน/องค์กรที่ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างค่านิยม เชิงบวกสู่สังคมไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ กรอบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 2 เพื่อนำมาใช้จัดทำร่างแผนพัฒนาด้านการพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ดังนี้
1. การศึกษาทบทวนวรรณกรรม งานวิจัย และสถิติที่เกี่ยวข้องด้าน การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผลการประเมินผล สัมฤทธิ์แผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564
2.การศึกษาตัวอย่างที่ดี ในการวางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในภูมิภาคตะวันตกและตะวันออก
3.การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการวิพากษ์ จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
4. การวิเคราะห์สถานการณ์
5. การศึกษาสภาพแวดล้อมภายนอก ในด้านต่างๆที่ส่งผลต่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น สังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎหมาย
6. การกำหนดฉากทัศน์ในอนาคต ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีเสนอแนะการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ โดยมุ่งทำงานเชิงรุกและขยายผลการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทางสังคมและค่านิยมเชิงบวกสู่สังคมคุณธรรมในบริบทสังคมไทยและสังคมโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะต่อคณะทำงานจัดทำร่างแผน พัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ 2 โดยให้ ดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้นใน 3 ประเด็นคือ การศึกษาตัวอย่างที่ดี ในการวางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จากต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ เพื่อถอดบทเรียนในการใช้“Soft Power” ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการวิพากษ์จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย และทำให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสื่อทั่วโลกอีกด้วย