ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่27 เม.ย. 65 ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ ที่กดดันตลาดการเงินพร้อมกัน อาทิ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ปัญหาความไม่แน่นอนของสงคราม และความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจจีนซบเซาหนัก ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด จะไม่ได้เลวร้ายมากนัก อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ที่ไม่รวมเครื่องบินและอาวุธ (Core Durable Goods Orders) ยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 1.1% จากเดือนก่อนหน้าในเดือนมีนาคม หรือ ดัชนีภาวะภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเฟด Richmond ในเดือนเมษายน ก็ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะซบเซาลงหนักหรืออาจเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

นอกจากนี้ แม้ว่ารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมในฝั่งสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด แต่ทว่า ความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ ก็ได้กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ต่างปรับตัวลดลง อาทิ Microsoft -3.7%, Apple -3.7%, Alphabet (Google) -3.6% กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -3.95% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.81% ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจยังคงผันผวนหนักและรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด อาจทำได้เพียงช่วยชะลอการปรับฐานรุนแรง จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงความชัดเจนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะโอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ติดกันในการประชุมครั้งถัดไป หรือ โอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.50% ในการประชุมแต่ละครั้ง

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -0.96% จากความกังวลผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนอาจซบเซาหนัก รวมถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงเทขายหุ้นเทคฯ เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ ASML -3.3%, Infineon Tech. -3.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบรีบาวด์ขึ้น

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและปิดรับความเสี่ยงได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.75% และมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัว sideways จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.3 จุด หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้สกุลเงินส่วนใหญ่ปรับตัวอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 1.064 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 1.257 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าแตะระดับ 127.3 เยนต่อดอลลาร์ จากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่แคบลง รวมถึงความต้องการถือเงินเยนเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้นท่ามกลางความผันผวนในตลาด ทั้งนี้ แม้ผู้เล่นในตลาดจะต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดยังคงกดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เร็ว โดยราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,905 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เราคาดว่าผู้เล่นบางส่วนอาจต้องการถือทองคำเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีโอกาสแกว่งตัว sideways เหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แต่ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านแนวโน้มค่าจ้างที่อยู่ในระดับสูงตามความต้องการแรงงาน จะช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 108.5 จุด และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Alphabet (Google), Intel, Microsoft เป็นต้น โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้บ้าง

และในฝั่งเอเชีย ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน ว่าทางการจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ และทางการจีนจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดกับเมืองใหญ่ อย่าง ปักกิ่ง หรือไม่ เพราะหากมีการ Lockdown ปักกิ่งเกิดขึ้นก็อาจกดดันให้ เศรษฐกิจซบเซาลงหนัก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจเห็นภาพตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงต่อ พร้อมกับการอ่อนค่าของเงินหยวน (CNY) ตามการไหลออกของฟันด์โฟลว์เพิ่มเติมได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ยังอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ควรจับตาแนวต้านสำคัญในช่วง 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ก็อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดภาวะ panic ในฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งซื้อเงินดอลลาร์ จากความกังวลว่าเงินบาทอาจอ่อนค่ารุนแรงได้อีก โดยโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าหนักได้นั้น เรามองว่า ต้องเห็นภาพฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกรุนแรงทั้งฝั่งหุ้นและบอนด์ ซึ่งปัจจุบัน แรงขายสินทรัพย์ไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้รุนแรงนัก หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯและไทย ปรับตัวขึ้นหนัก

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์

________________________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย