กรมสุขภาพจิต แนะเปิดรับข่าวสารการเมืองหลากหลายบนโลกโซเชียล


กรมสุขภาพจิต ห่วงพฤติกรรมการเสพข่าวสารบนโลกโซเซียลที่มีกับดัก คือ ระบบการกรองข้อมูล ที่ทำให้เห็นเฉพาะสิ่งที่ชอบ หรือสนใจ ทำให้เกิดเสียงสะท้อนวนไปวนมาของความคิดที่คล้ายๆ กัน หรือ เกิดอคติจากการยืนยันข้อมูลโดยกลุ่มที่มีความชอบและมีความสนใจเหมือนตนเองซ้ำๆ ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่สะท้อนโลกที่เป็นกลาง และหลากหลาย เพราะข้อมูลที่เห็นอาจจะไม่จริงทั้งหมด และมีข้อมูลจริงที่มองไม่เห็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความคิด ความเชื่อ และการกระทำที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวเอง และสังคมโดยรวม แนะทางออกให้มองโลกตามความจริง เปิดรับข่าวสารจากหลากหลายสื่อ หลากหลายความคิด มากกว่าการเปิดรับข้อมูลเฉพาะสิ่งที่เราเลือกจะเห็นบนโลกโซเชียล เท่านั้น นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมืองของ กรมสุขภาพจิต พบสาเหตุความเครียดที่สำคัญ คือ พฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไป และไม่รู้เท่าทันความอันตรายของข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะบนโลกโซเซียล ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา เช่น ความเบื่อหน่าย ความสิ้นหวัง และความเกลียดชัง รวมทั้งทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดในสังคม นอกจากนี้ ด้วยระบบการกรองข้อมูลบนโลกโซเชียลที่ทำให้ทุกคนเลือกรับสื่อที่ตัวเองชอบ และสนใจ เลือกกลุ่มเพื่อนเฉพาะที่เข้ากับตัวเองเท่านั้น เสมือนการติดอยู่ในฟองสบู่ข้อมูลข่าวสารของตัวเอง (filter bubble) และยังทำให้เกิดเสียงสะท้อนวนไปวนมาของความคิดที่คล้ายๆ กัน (echo chamber effect) หรือเกิดอคติจากการยืนยันข้อมูลโดยกลุ่มที่มีความชอบ และมีความสนใจเหมือนตนเองซ้ำๆ (confirmation bias) ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่สะท้อนโลกที่เป็นกลางและหลากหลาย เพราะข้อมูลที่เห็นอาจจะไม่จริงทั้งหมด และมีข้อมูลอีกหลายๆ ด้าน ที่ไม่มีโอกาสเห็น ทำให้มีทัศนคติและมุมมองต่อสังคมที่แคบลง และกลายเป็นคนที่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองรับรู้ คือ ความจริงเพียงหนึ่งเดียว ไม่ยอมรับข้อมูลอื่นที่ต่างออกไป แม้จะเป็นข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงและถูกต้องก็ตาม ซึ่งความคิด ความเชื่อ และการกระทำจากรับข้อมูลข่าวสารลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเอง เช่น การตัดสินใจ การประสบความสำเร็จในชีวิต รวมทั้งอาจกระทบต่อสังคมโดยรวมด้วย ดังนั้น การใช้โซเชียลเพื่อเป็นเครื่องมือเชื่อมข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน จึงจำเป็นต้องมองโลกตามความจริง เพื่อเห็นโลกอย่างเป็นกลาง โดยการเปิดรับข่าวสารจากหลากหลายสื่อ หลากหลายความคิด เปิดรับข้อมูลทั้งจากฝั่งที่ชอบ และฝั่งไม่ชอบ  สำหรับการเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมือง กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการโดยเก็บข้อมูลจากบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และเผยแพร่แบบประเมินอารมณ์และความเครียดทางการเมือง นอกจากนั้น ยังได้ วางแผนการวางระบบที่จะใช้รวบรวมข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ดูผลที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้การเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมืองสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ นำไปสู่การผ่อนคลายปัญหา และสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว