ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่ 22 เม.ย.65 ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์

ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยและเร่งลดงบดุล กลับมากดดันตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ อีกครั้ง แม้ว่าในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดการเงินจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าถ้อยแถลงของประธานเฟด ในการประชุมกับ IMF ที่ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ชัดเจน ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 2.95% ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.07% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลง -1.48%

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 สามารถปรับตัวขึ้น +0.80% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดและผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปจะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ความคาดหวังว่าประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จะยังสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรป อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเจรจาสันติภาพก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเราคงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อนจากความไม่แน่นอนของสงคราม

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ตอกย้ำแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.95% ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.92% ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว sideways ได้ หากปัญหาสงครามเริ่มกดดันให้ตลาดพลิกกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ หรือ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และความไม่แน่นอนของสงครามได้หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 100.6 จุด อีกครั้ง หลังจากที่ในช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า DXY ย่อตัวลงหลุดระดับ 100 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 128.5 เยนต่อดอลลาร์ และยังได้กดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ต่อ ในกรอบ 1,940-1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินที่ยังมีความผันผวนอยู่ รวมถึงความไม่แน่นอนของสงครามที่ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่า ราคาทองคำก็อาจถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ (ดีสุด ต่อ ราคาทองคำ คือ ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง จากประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือเร่งลดงบดุลของเฟด)

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของแต่ละประเทศ เพื่อติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากสงครามที่กดดันให้ราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น พร้อมกับปัญหา Supply Chain ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (S&P Global Manufacturing PMI) เดือนเมษายนที่จะลดลงสู่ระดับ 58 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว ) ส่วนภาคการบริการยังคงขยายตัวได้ดี หนุนโดยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการระบาดของโอมิครอนที่ไม่ได้น่ากังวล ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) ที่ระดับ 58 จุด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผลกระทบจากสงครามได้กดดันให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนเมษายนที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 54.7 จุด และ 55 จุด ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซน

และในฝั่งเอเชีย ผลกระทบของสงครามจะกดดันให้ภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนเมษายนจะลดลงแตะระดับ 53 จุด อย่างไรก็ดี ภาคการบริการของญี่ปุ่นอาจขยายตัวในอัตราเร่ง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 51 จุด

นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงติดตามและให้น้ำหนักกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราประเมินว่า หากผลกำไรยังเติบโตได้ดีกว่าคาดก็อาจพอช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดช่วงนี้ได้ ในทางกลับกัน หากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดได้รุนแรงในช่วงที่ตลาดเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง

ส่วนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบที่ 2 ซึ่งจะรู้ผลในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์หน้า โดยตลาดมองว่า มีโอกาสกว่า 90% ที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้สกุลเงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นได้บ้าง พร้อมกับตลาดหุ้นยุโรปที่อาจเปิดรับความเสี่ยงต่อได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงเข้าใกล้แนวต้านสำคัญในโซน 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว อย่างไรก็ดี ควรจับตาฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายทั้งหุ้นและบอนด์อย่างชัดเจน ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าหลุดแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรง แต่ปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติยังมีลักษณะซื้อ กลับขาย สินทรัพย์ในฝั่งไทยอยู่

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

อนึ่ง แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จะเห็นได้ว่า เงินบาทกลับปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้ในการทยอยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมุมมองของตลาดยังคงมองว่า เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 118-120 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ซึ่งแม้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยรวม เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาทก็อาจจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับผู้ที่วางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สามารถทยอยแลกเงินได้ และอาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นหุ้นขนาดเล็ก-กลาง ที่จะได้รับอานิสงส์จากธีม Reopening & Recovery ได้เช่นกัน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์

________________________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย