วันที่ 1 พ.ค.61 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมด้วย นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนยกระดับความยั่งยืนด้านมาตรฐานคุณภาพ ตามแนวทางขององค์การยูเนสโก ของแหล่งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล และอุทยานธรณี ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำไปสู่คุณค่าระดับผู้นำโลก ในลักษณะดินแดนแห่ง 3 มงกุฎ หรือ UNESCO’s Triple Crown ในอนาคต ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงาน ในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับทุกภาคส่วน พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และทำกิจกรรมพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช และพื้นที่อุทยานธรณีโคราช
ขณะที่ UNESCO’s Triple Crown คือรูปแบบการอนุรักษ์พื้นที่ตามโปรแกรมงานของยูเนสโก 3 โปรแกรม ได้แก่ มรดกโลก (World Heritage) พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) และอุทยานธรณีโลก (Geopark) โดยในปัจจุบัน มีประเทศที่มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองการอนุรักษ์พื้นที่ตามโปรแกรมงานดังกล่าวแล้ว คือ เกาหลีใต้ อิตาลี และจีน ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการรับรองแล้ว 2 โปรแกรม คือ 1) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ได้รับการรับรองในปี พ.ศ. 2519 และ 2) มรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ได้รับการรับรองในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งทั้งสองพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและความโดดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากอุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 4 ที่มีพื้นที่ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์แบบ UNESCO’s Triple Crown โดยสมบูรณ์
ทั้งนี้รูปแบบการอนุรักษ์ของอุทยานธรณีโลก เป็นรูปแบบการอนุรักษ์ใหม่โดยใช้ธรณีวิทยาใน
การอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน โดยเชื่อมโยงส่วนประกอบด้านต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น วิถีชุมชน วัฒนธรรม โบราณคดี การท่องเที่ยว เป็นต้น ในส่วนของอุทยานธรณีโคราชนั้น ประกอบด้วยพื้นที่ 5 อำเภอ คือ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ มีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา เช่น หินประเภทต่างๆ ภูเขา หน้าผา น้ำตก ซากดึกดำบรรพ์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีที่ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก อันจะนำไปสู่การรับรองจังหวัดนครราชสีมา ว่ามีพื้นที่ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์ในแบบ UNESCO’s Triple Crown และทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามระดับสากล ต่อไป
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช