“ภัยแล้ง” เป็นปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญ โดยทุกๆปี ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือ พร้อมกับขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภคและบริโภค
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เป็นหัวใจสำคัญต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร และบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน” ที่ดำเนินการโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จึงถูกสานต่อมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้ว โดยน้ำปุ๋ยที่ฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่ไข่ของซีพีเอฟปันให้เกษตรกรใช้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อให้ชุมชนนำไปใช้เพื่อการเกษตร พืชไร่ และพืชสวน
กระบวนการน้ำปุ๋ยที่เกิดจากการเลี้ยงสุกร น้ำที่ได้จากมูลสุกรถูกรวมและส่งเข้าไปในระบบไบโอแก๊ส หรือบ่อหมัก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการหมัก 45 วัน ส่วนของที่เหลือจากการหมัก คือ กากตะกอนและน้ำ น้ำในส่วนนี้ เรียกว่าน้ำปุ๋ย จะผ่านการหมุนเวียน การบำบัด จนได้คุณสมบัติที่เหมาะสมกับพืชมาให้เกษตรกร โดยก่อนที่จะนำไปใช้ จะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับคุณภาพดินของพื้นที่และพืชแต่ละชนิด น้ำปุ๋ยจึงเป็นน้ำที่มีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกพืช ครบถ้วนเหมาะสมต่อการปลูกพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด มัน สำปะหลัง ยูคาลิปตัส อ้อย เป็นต้น
วันนี้ … มาลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรรอบฟาร์มนนทรีของซีพีเอฟ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มที่ปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกร มาตั้งแต่ปี 2550 และจนถึงปัจจุบัน น้ำปุ๋ยจากฟาร์มนนทรีของซีพีเอฟ ยังเป็นที่พึ่งในการเพาะปลูกให้เกษตรกร ได้ทั้งในภาวะปกติและในช่วงแล้ง
นางพรทิพย์ ขุนศรีภิรมย์ อายุ 58 ปี อาชีพทำนา ทำสวน ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงวัว ปลูกข้าวโพด เลี้ยงปลา ทำไร่นาสวนผสม เล่าว่า ตั้งแต่ซีพีเอฟเข้ามาเปิดฟาร์มในพื้นที่ เมื่อปี 2550 เจ้าหน้าที่ของฟาร์มมาสอบถามเกษตรกรว่าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรหรือไม่ รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกผัก และมีการปันน้ำปุ๋ยมาให้เกษตรกรใช้ เป็นน้ำที่นำมาใช้รดผักแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตดี ซึ่งทางฟาร์มต่อท่อมาให้เราใช้ เปิดรดพืชผักสวนครัว ผลผลิตที่ได้ เราก็ขายให้เจ้าหน้าที่ของฟาร์มด้วย มีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่ม มีความสุุข ตอนนี้มีรายได้จากการขายผลผลิตประมาณ 4-5 พันบาทต่อเดือน
“ขอบคุณซีพีเอฟที่ช่วยเหลือและสนับสนุน อยากให้ซีพีเอฟปันน้ำให้ชาวบ้าน เพราะน้ำปุ๋ยช่วยเกษตรกรที่ปลูกผักสวนครัว ปลูกข้าวโพด แต่ก่อนต้นไม้ไม่ค่อยสดชื่น ชีวิตเราก็เหมือนต้นไม้ ตอนนี้ก็สดชื่นเหมือนต้นไม้ มีความสุข มีรายได้มาเดือนละเท่านี้ก็ดีใจ” นางพรทิพย์กล่าว
นางสาคร คงโนนนอก หรือป้าสาคร อายุ 56 ปี พื้นเพชาวปราจีนบุรี อาชีพทำนา และปลูกผักสวนครัว เล่าว่า เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีฟาร์มของซีพีเอฟเข้ามา ก็ทำนาอย่างเดียว พอเสร็จนาแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพราะไม่มีน้ำ ตอนแล้งก็ปล่อยไว้ไม่ได้ทำอะไร ลำบากพอ สมควร พอมีฟาร์มซีพีเอฟเข้ามาแล้ว ถ้าฝนไม่พอ ไม่มีน้ำ เราก็ขอน้ำปุ๋ยจากฟาร์มออกมาใช้ได้ ฟาร์มให้เรามาใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เวลาฝนทิ้งช่วง ก่อนที่เราจะหว่านข้าว เราก็ขอจากฟาร์มมาลงหน้าดินก่อนสักพักให้ดินชุ่มชื้น เพื่อที่เราจะหว่านข้าว พอหมดหน้านาเราก็เอาน้ำไปใส่ต้นยูคาลิปตัส ใส่ต้นไม้ที่ปลูกรอบคันนา ทั้งต้นมะพร้าว ต้นกล้วย ที่ปลูกเติบโตดี
ป้าสาคร เล่าเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีอาชีพเสริมจากที่ฟาร์มส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้น้ำจากฟาร์มมาช่วย เพราะถ้าไม่มีน้ำจากฟาร์ม ก็ปลูกข้าวโพดไม่ได้ น้ำในบ่อมีไม่เพียงพอ ปีที่แล้วปลูกไปได้ไร่กว่า ๆ ปีนี้เพิ่มมาเป็นประมาณ 3 ไร่ คาดว่ารายได้ก็น่าจะดีกว่าปีที่ แล้ว ดีใจที่เราได้รายได้เพิ่มขึ้นมาในช่วงแล้ง รายได้ที่เพิ่มขึ้น นำมาลงทุนทำนาข้าวต่อ
ด้านนายสามารถ ศรีกำปัง ผู้จัดการฟาร์มนนทรี ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มนนทรี ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชนใช้มาตั้งแต่ปี 2550 เกษตรกรให้ความมั่นใจในน้ำปุ๋ยที่ได้จากฟาร์ม โดยที่ทางฟาร์มมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม เช่น การทำแปลงนาสาธิต และนำน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมาใส่ในนาข้าว มีหน่วยงานของซีพีเอฟเข้ามาร่วมให้ความรู้และทำงานไปด้วยกัน คือ หน่วยงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดและหน่วยงานตรวจวิเคราะห์คุณภาพดิน เข้ามาช่วยให้ความรู้และคำแนะนำ เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าน้ำปุ๋ยของเราใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ ได้ผลดี ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิตด้วย นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยการนำน้ำปุ๋ยจากฟาร์มไปใช้ได้ผลเป็นอย่างดี มีการขยายผลของโครงการ มีเกตรกรเพิ่มขึ้นทุกๆปี
“เราปันน้ำให้เกษตรกรรอบฟาร์ม ทำให้เกษตรกรรอบฟาร์มลดต้นทุนในการผลิตเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถลดการใช้ปุ๋ยได้ 50 % และสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในแต่ละปี น้ำปุ๋ยทำให้ปลูกพืชในช่วงแล้งได้ ในช่วงที่มีน้ำน้อย ก็จะปันนน้ำปุ๋ยให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกพืชอย่างอื่นเสริม นอกจากพืชที่ปลูกอยู่เป็นประจำ ดีใจที่ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น” ผู้จัดการฟาร์มนนทรีของซีพีเอฟ กล่าว ./