แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2022 และ 2023 ลงสู่ระดับ +3.6%y/y จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน กดดันให้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลดลงกว่า -5% สู่ระดับ 107.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มความต้องการใช้พลังงาน ทว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้รับแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +2.15% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.61% ซึ่งคาดว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น โดยหากแนวโน้มผลประกอบการยังสามารถเติบโตได้ดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้บ้างในช่วงนี้ได้ แม้ว่าโดยรวมตลาดยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งปัญหาสงครามและแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลง -0.47% จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังรัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครนตามแผนเฟส 2 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์เติบโต (Growth) หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังเดินหน้าปรับตัวสูงขึ้นต่อ ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดจะหันมาให้ความสำคัญกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปเช่นกัน ซึ่งหากผลกำไรออกมาโดดเด่นก็จะสามารถพยุงตลาดหุ้นยุโรปในช่วงนี้ได้เช่นกัน แต่การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปอาจถูกจำกัดด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อไป
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2.96% อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้น ทำให้มีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว sideways ได้ หากปัญหาสงครามเริ่มกดดันให้ตลาดพลิกกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เดินหน้าปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101 จุด หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดจะยังมีความกังวลต่อสถานการณ์สงครามอยู่ ทว่าการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่แนวต้านในโซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวกลับสู่แนวต้านของราคาทองคำ ในการเข้ามาสะสมทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ต่อ ในกรอบ 1,940-1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อราคาทองคำตอนย่อตัว อาจเป็นหนึ่งในแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ในระยะสั้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาท่าทีของธนาคารกลางจีน (PBOC) ต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) หลังการฟื้นตัวเศรษฐกิจชะลอลงหนักจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนล่าสุด ซึ่ง บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ประเภท 1 ปี ลงเหลือ 3.60% รวมถึง ปรับลด LPR ประเภท 5 ปี เหลือ 4.55% เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจและพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราประเมินว่า หากผลกำไรยังเติบโตได้ดีกว่าคาดก็อาจพอช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดช่วงนี้ได้ ทำให้ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงรุนเร้า ตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ได้ปรับฐานหนัก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าลงจากกรอบ Sideways ก่อนหน้า โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจาก การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงในการกลับเข้าซื้อ ทำให้โฟลว์ซื้อทองคำดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจมีแนวต้านสำคัญในช่วง 33.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่ายๆ หากตลาดการเงินไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง ซึ่งต้องจับตาฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายทั้งหุ้นและบอนด์ ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง
ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.70-33.90 บาท/ดอลลาร์
________________________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย