ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ TOPT ยกระดับการบริการทดสอบความปลอดภัยยา วัคซีน สู่ตลาดโลก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) จับมือร่วมกับ เครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) บริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง สารปรุงแต่งในอาหารและอาหารสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง สารเคมีในอุตสาหกรรมหรือใช้ในครัวเรือน รับบริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ จัดงานเสวนาและการแถลงข่าวเครือข่าย Thailand OECD GLP Preclinical (TOPT) Testing network ร่วมยกระดับการบริการทดสอบความปลอดภัยยา วัคซีน สู่ตลาดโลก ณ โรงแรมวี กรุงเทพ–เอ็มแกลเลอรี่ (ไฮบริด) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565

โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ และ TOPT Network members, นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เข้าร่วมเสวนาและแถลงข่าวเครือข่าย TOPT

ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ และ TOPT Network members กล่าวว่า “เครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) เกิดจากกลุ่มห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามหลักการ OECD GLP แล้ว ซึ่งการที่ไทย ถูกประกาศยอมรับข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ของโปรแกรม Mutual Acceptance of Data – MAD ตามข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การ เพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development–OECD) เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จะช่วยให้ไทยมีข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ เช่น สารเคมีในทางอุตสาหกรรม (Industrial chemicals) เภสัชภัณฑ์ (Pharmaceuticals) ยาฆ่าแมลง (Pesticides) สารฆ่า หรือกำจัดสิ่งมีชีวิต (Biocides) วัตถุเจือปนอาหาร (Food additives) วัตถุเติมในอาหารสัตว์ (Feed additives) และเครื่องสำอาง (Cosmetics) รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์ สามารถไปขึ้นทะเบียนกับประเทศสมาชิก OECD ค้าขายด้วยกันได้ต่อไป”

 ศ.ดร.สุจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า “เครือข่ายเรายังมีโครงสร้างพื้นฐานมาตรฐานสากล มีบุคลากรที่มีความสามารถ การรวมกันของเครื่องข่าย TOPT นั้น TCELS จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับงานและกระจายให้กับเครือข่าย โดยปัจจุบันมีหน่วยงานจากจากเยอรมัน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ให้ความสนใจแล้ว เราหวังว่างานของเราจะช่วยผลักดันธุรกิจ อุตสาหกรรมขอประเทศได้อีทาง หากสนใจดูรายละเอียดได้ตาม https://thaipreclinicalcro.com

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงสร้างพื้นฐานการทดสอบความปลอดภัยเหล่านี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการยืนยันความปลอดภัยวัคซีน การเกิดเครือข่าย Thailand OECD GLP Preclinical (TOPT) Testing network เป็นสิ่งที่ดี ทำให้เป็นส่วนสร้างเสริมความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ และยังส่งเสริมให้ประเทศมีโครงสร้างมาตรฐานการพัฒนาวัคซีนอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานสามกล ซึ่งจะเสริมสร้างและผลักดันให้ไทยพัฒนาวัคซีนใช้ในประเทศ และส่งออกได้ในอนาคต”

นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า “วว. เป็นหนึ่งในศูนย์ทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักการ OECD GLP เพื่อบริการแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศด้านการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ พบว่าประเทศไทยยังขาดช่วงของการพัฒนายาเรื่องการศึกษาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระยะก่อนคลินิก (pre-clinic) วัคซีน การเกิดเครือข่าย Thailand OECD GLP Preclinical (TOPT) Testing network จะช่วยประกันคุณภาพระบบต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล การทดสอบที่เป็นระบบ รวมทั้งการจัดการด้านข้อมูลและการจัดเก็บเอกสารให้มีความปลอดภัยสูงสุด มีการประเมินผลเป็นระยะโดยผู้ตรวจประเมินที่ได้การรับรอง มีการปรับปรุงแก้ไขและตรวจประเมินซ้ำ ด้วยการสนับสนุนทุนจากทีเซลส์

(TCELS) ตลอดถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จึงทำให้หลายหน่วยงานสามารถพัฒนาศักยภาพ จนเป็นหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยให้บริการทดสอบความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของ OECD GLP ซึ่งเครือข่ายการทดสอบนี้ จะเป็นส่วนสำคัญการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในประเทศต่อไป”

 ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย บนพื้นฐานของการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ในอนาคต โดยอาศัยนำงานด้านชีววิทยาศาสตร์มาช่วยสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

“ด้วยข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD และประเทศสมาชิกสมทบ ซึ่งทีเซลส์ (TCELS) ได้ให้การสนับสนุน ศูนย์ทดสอบในสัตว์ทดลองเป็น Testing Facility ที่ผ่านการรับรองความสามารถตามหลักการ OECD GLP จาก สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้นำข้อมูลจากการทดสอบไปขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในสมาชิกประเทศกลุ่ม OECD และประเทศสมาชิกสมทบกว่า 45 ประเทศ เป็นอีกส่วนที่ช่วยลด Non Tariffs Barrier ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยสามารถส่งออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดความเข้มแข็งธุรกิจ อุตสาหกรรมนี้ในประเทศด้วย” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

การจัดงานครั้งนี้ ถ่ายทอดโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้มาตรการป้องกันโรค ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548