“รวมพลังครอบครัวไทย ไร้ความรุนแรง” กระตุ้นให้ครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ในครอบครัว


พม. จัดงานวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2562
ชูแนวคิด “รวมพลังครอบครัวไทย ไร้ความรุนแรง” กระตุ้นให้ครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ในครอบครัว

วันนี้ (5 เม.ย.62) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2562 ชูแนวคิด “รวมพลังครอบครัวไทย ไร้ความรุนแรง” และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง” พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติครอบครัวร่มเย็นจำนวนทั้งสิ้น 92 รางวัล และรับมอบข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน ในการนี้ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ครอบครัวร่มเย็นส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ครอบครัวร่มเย็น (ด้านผู้มีชื่อเสียง) บุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว ผู้แทนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานจำนวน 600 คน
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชม ยินดี และเป็นกำลังใจให้แก่ครอบครัวร่มเย็น และบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัวที่ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ เนื่องในวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2562 ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศให้มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้าต่อไป

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 กำหนดให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็น “วันแห่งครอบครัว” ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ สมาชิกส่วนใหญ่ของครอบครัวเดินทางกลับมาพบปะกันจึงถือเป็นโอกาส รวมญาติ ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ทำกิจกรรมร่วมกันตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา มีการรดน้ำขอพรผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่นเป็นสุขของครอบครัว ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ โดยเฉพาะในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันแห่งครอบครัว ขอเชิญชวนสมาชิกทุกครอบครัวหาโอกาส หาเวลากลับไปอยู่กับครอบครัวไปทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว หากใครที่ไม่ได้มีโอกาสกลับไปหาครอบครัว ก็ขอให้โทรศัพท์ไปหาคุณพ่อคุณแม่ หรือปู่ย่า ตายาย ขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลในการดำเนินชีวิต หากสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ความสำคัญกับครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยหล่อหลอมสมาชิกให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย

###########################