ศาสตร์การนวดไทยกับการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวัน ทั้งในเวลาทำงานและในเวลาว่าง  ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือหรือเล่นเกม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ มักทำให้เราต้องอยู่ในอิริยาบทหรืออยู่ท่าเดิมนาน ๆ และพฤติกรรมเหล่านี้เอง จะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า โรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมักจะแสดงอาการ เช่น ปวดบ่าและต้นคอร้าวขึ้นศีรษะและกระบอกตา ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ชาปลายมือปลายเท้า ปวดตึงบริเวณหัวไหล่ หรือแม้กระทั่งหายใจไม่อิ่มหรือรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด ทำให้มีอาการอ่อนเพลียและเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการหดตัวหรือแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากมีการสะสมหรือคั่งค้างของกรดแลคติกภายในมัดกล้ามเนื้อนั่นเอง

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำประชาชนที่กำลังประสบกับโรคออฟฟิศซินโดรม ให้ใช้ศาสตร์การนวดไทยในการรักษา ในทางการแพทย์แผนไทยจะเรียกกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหรือโรคออฟฟิศซินโดรมนี้ว่า โรคลมปลายปัตฆาต ซึ่งเป็นโรคลมชนิดหนึ่งที่ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เลือดคั่งและแข็งตัวบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และริมหัวต่อกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดตึง แข็งเป็นก้อนเป็นลำตามแนวมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งการนวดไทยสามารถใช้รักษาหรือบรรเทาอาการดังกล่าวนี้ได้ โดยการนวดจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ช่วยขจัดของเสียที่คั่งค้างอยู่ตามกล้ามเนื้อ ซึ่งจะสามารถบรรเทาอาการปวดตึงตามกล้ามเนื้อ เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลาย และหลังจากนวดเสร็จก็จะประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพร ซึ่งเป็นการเสริมประสิทธิภาพของการนวด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ลดอาการระบมและการเกิดจ้ำเลือดหลังจากการนวด สำหรับข้อห้ามในการนวด ได้แก่ 1.ห้ามนวดในผู้ที่มีไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส 2.ผู้ที่เป็นไข้พิษ ไข้กาฬ เช่น อุสุกอีใส งูสวัด 3.โรคผิวหนังที่มีการติดต่อ 4.โรคติดต่อ เช่น วัณโรค 5.ไส้ติ่งอักเสบ 6.กระดูกแตกหัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดสนิท 7.มีภาวะผิดปกติของเลือด เช่น เลือดไม่แข็งตัว 8.มีภาวะอักเสบ ติดเชื้อ บวม แดง ร้อน 9.ผู้ที่รับประทานอาหารอิ่ม ใหม่ ๆ  10.หลังได้รับอุบัติเหตุใหม่ ๆ และข้อควรระวังในการนวด ได้แก่ 1.สตรีมีครรภ์ 2.ใส่อวัยวะเทียมหลังผ่าตัดกระดูก 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 4.มีภาวะข้อต่อหลวม กระดูกพรุน

จากการศึกษาวิจัยผลของการนวดคอ บ่า ไหล่ ร่วมกับการใช้ยา ต่อความปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ในผู้ที่มีอาการปวดต้นคอและสะบักจากกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของศรีวรรณ สวยงาม ในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 75 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่รับประทานยาแก้ปวดผสมยาคลายกล้ามเนื้อ 2.กลุ่มที่รับประทานยาร่วมกับการนวด และ3.กลุ่มที่ได้รับการนวดอย่างเดียว  ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับการรักษา เป็นเวลา 30 นาที วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน โดยประเมินระดับความเจ็บปวดด้วย Visual Analogue Scale (VAS) และประเมินความตึงตัวของกล้ามเนื้อด้วยเครื่องวัดปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ผลการทดลอง พบว่า ทั้ง 3 กลุ่ม มีระดับอาการปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การนวดไทย  สามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและสามารถคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้ จึงเป็นทางเลือกในการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม สำหรับที่ผู้กำลังประสบกับปัญหาปวดกล้ามเนื้อที่ไม่อยากรับประทานยาแก้ปวดหรือไม่ต้องการให้มีสารเคมีเข้ามาออกฤทธิ์หรือเข้ามาทำปฏิกิริยาภายในร่างกาย ซึ่งประชาชนทุกท่านสามารถติดต่อขอรับบริการนวดไทยได้ที่คลินิกการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ

อ้างอิง

  1. ศรินรัตน์โคตะพันธ์, ศุภมาศ จารุจรณ. (2014). โรคออฟฟิศซินโดรมกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย.Phranakhon Rajabhat Research Journal (Science and Technology), 12(2), 135-142.
  2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. (2015). ตำราการแพทย์แผนไทยสำหรับแพทย์. สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 207-213.
  3. ศรีวรรณ สวยงาม. (2017). ผลของการนวดคอ บ่า ไหล่ ร่วมกับการใช้ยา ต่อความปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ในผู้ที่มีอาการปวดต้นคอและสะบักจากกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี, 28(2), 42-54.