พาณิชย์เข้มตรึงค่าครองชีพ จับมือพลังงานดันราคาช่วยชาวสวนปาล์ม ร่วมมือผู้ค้าปุ๋ยลดราคาช่วยเกษตรกร

พาณิชย์เข้มตรึงค่าครองชีพ

——————————-

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า จากการปรับตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.24% โดยมีที่มาจากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มพืชผักและมะนาวที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง และเนื้อสุกรชำแหละที่สูงขึ้นจากการปรับตัวของสุกรมีชีวิต นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาจากภัยแล้งให้ราคาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับต้นทุนหรือที่เกษตรกรขายได้ และย้ำไม่ให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไม่ให้มีการกักตุนหรือทำให้เกิดความปั่นป่วนราคาในตลาด

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้มีมาตรการลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีการจัดหาสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐที่มีอยู่กว่า 56,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ร้านอาหารหนูณิชย์ และจัดให้มีการจัดงานจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาต่ำกว่าตลาด 20-40% ให้กระจายตัวอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนที่กำลังจะถึงได้สั่งการให้มีการจำหน่ายชุดนักเรียน-อุปกรณ์การเรียน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 20-80% ในงาน Back to Schoolระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2562 เพื่อลดภาระของผู้ปกครอง

สำหรับการดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วย ได้กำชับให้ดำเนินการให้โรงพยาบาลเอกชน
มีความโปร่งใสและเป็นธรรมในการคิดค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาพยาบาล โดยให้โรงพยาบาล ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ค้าส่งแจ้งราคาและต้นทุนในการจำหน่าย เพื่อให้กรมการค้าภายในใช้ในการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และกำหนดมาตรการดูแลให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทั้งโรงพยาบาลและผู้ป่วยที่ใช้บริการ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ป่วยที่ใช้บริการโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ค่าเวชภัณฑ์ตลอดจนค่าบริการทางการแพทย์ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในก่อนหรือหลังเข้ารับการรักษา เป็นการเพิ่มทางเลือกและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

——————————-

พาณิชย์จับมือพลังงานดันราคาช่วยชาวสวนปาล์ม

——————————-

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำและคณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งแก้ไข โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ไปผลิตกระแสไฟฟ้า และให้เร่งรัดการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงในน้ำมันรถยนต์ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจัดหาโรงสกัด จำนวน 31 ราย เข้าทำสัญญาขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ. ที่บางปะกง เสร็จสิ้นแล้ว โดยกำหนดเร่งส่งมอบให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 20 เมษายน 2562 พร้อมกันนี้ กฟผ. จะเร่งการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิมที่ใช้ 1,000 ตัน/วัน เป็น 1,500 ตัน/วัน และคาดว่าจะใช้น้ำมันที่รับซื้อไว้หมดสิ้นภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 การใช้น้ำมันปาล์มดิบจำนวนดังกล่าวเป็นการดึงน้ำมันปาล์มส่วนเกินออกนอกระบบตลาด ซึ่งจะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่มีอยู่ 370,000 ตัน ลดลงเหลือ 210,000 ตัน หลังการส่งมอบเสร็จสิ้น พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ดีเซล โดยกระทรวงพลังงานได้ประกาศรับรอบมาตรฐาน B20 ว่าใช้ได้กับรถบรรทุก รถบัส รถเพื่อการเกษตรเกือบทุกรุ่น ส่วนรถบรรทุกเล็กบางรุ่นอาจต้องมีการปรับแต่งเครื่องเพื่อให้รองรับน้ำมันไบโอดีเซล B20 ได้ และเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้น้ำมัน B20 มากขึ้น รัฐบาลได้ลดราคาน้ำมันไบโอดีเซลให้ถูกกว่าน้ำมันดีเซลปกติ ลิตรละ 5 บาท พร้อมทั้งลดภาษีรถยนต์ที่ใช้ไบโอดีเซลลง 0.5-1% ซึ่งจะทำให้ ผู้ที่ต้องการใช้รถยนต์ดีเซลมีค่าใช้จ่ายในการจัดหารถและค่าเติมน้ำมันถูกลง และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถยนต์สามารถเติมน้ำมัน B20 ได้ง่ายยิ่งขึ้น รัฐบาลได้ขอความร่วมมือผู้จำหน่ายน้ำมัน 5 ราย ประกอบด้วย ปตท. บางจาก พีที ซัสโก้ และเชลล์ ให้เร่งติดตั้งหัวจ่ายเพื่อจำหน่าย B20 ให้กระจายอย่างทั่วถึงทั่วประเทศโดยเร็ว ซึ่งปรากฏว่าได้รับความร่วมมือ จากเอกชนทั้ง 5 รายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปาล์มสำคัญ มีปั้มน้ำมันติดตั้ง B20 แล้ว 18 สถานี รองรับ B20 ได้มากกว่าวันละ 200 ตัน ซึ่งหากมีการกระจาย การติดตั้งหัวจ่าย B20 ทั่วประเทศ จะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ถึงวันละ 20 ล้านลิตร หรือปีละไม่ต่ำกว่า 1,440,000 ตัน กระทรวงพาณิชย์ให้ความเชื่อมั่นได้ว่า การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่องจะช่วยสร้างตลาดรองรับให้กับปาล์มน้ำมันของชาวสวน และจะสามารถช่วยดึงราคาผลปาล์มให้สูงขึ้นได้

——————————-

พาณิชย์ร่วมมือผู้ค้าปุ๋ยลดราคาช่วยเกษตรกร

——————————-

นายวิชัย  โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า ในปีนี้รัฐบาลได้มุ่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยการลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตลง โดยเฉพาะปุ๋ยที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งจากการประสานกับผู้ผลิต ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมี ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้ลดราคาปุ๋ยที่จะจำหน่ายให้กับเกษตรกร ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี โดยได้ร่วมมือกัน
ลดราคาปุ๋ยเคมีที่ใช้นาข้าว สูตร 46-0-0 ลดลงกระสอบละ 30 บาท สูตร 16-20-0 และสูตร 16-8-8 ลดลงกระสอบละ 40 บาท สูตร 16-16-8 ลดลงกระสอบละ 50 บาท และสูตร 15-15-15 ลดลงกระสอบละ 30 บาท

นอกจากนั้นผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ให้ความร่วมมือลดราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ลง กระสอบละ 50 บาท เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 150,000 ตัน และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการผสมปุ๋ยด้วยตนเอง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ประสานผู้นำเข้าแม่ปุ๋ยจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย (1) บมจ.ปุ๋ยมหาวงศ์ (2) บจ.เวียงฟู เฟอร์ติไลเซอร์ (3) บจ.ไอซีพีกรุ๊ป (4) บจ.ศักดิ์สยาม (5) บจ.พาริช เฟอร์ติไลเซอร์และ (6) บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ให้จัดหาแม่ปุ๋ยจำหน่ายให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และกองทุนหมู่บ้าน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยในพื้นที่ โดยลดราคาจำหน่ายให้ตันละ 500-1,000 บาท   ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับผู้นำเข้าปุ๋ยทั้ง 6 ราย ให้พบปะกับตัวแทนสหกรณ์การเกษตรและมีการตกลง ที่จะทำการซื้อขายในเบื้องต้นแล้ว ลำดับต่อไปจะได้หารือกับวิสาหกิจชุมชนและกองทุนหมู่บ้าน
จัดซื้อแม่ปุ๋ยจากผู้นำเข้ากลุ่มดังกล่าวนำไปจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรต่อไป

——————————-