กรมอนามัย เตือน สภาพอากาศร้อนเสี่ยงทำบ่อขยะเกิดเพลิงไหม้ แนะแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ให้พร้อมช่วยเหลือ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนสภาพอากาศร้อนเป็นความเสี่ยงที่ทำให้บ่อขยะเกิดไฟไหม้ได้ แนะแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการช่วยเหลือ พร้อมแนวทางให้ประชาชนปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน บ่อขยะเป็นอีกหนึ่งจุด ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจเกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย ซึ่งล่าสุดได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ 200 ตัน ขยะส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทพลาสติก ที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นและควันจากสารพิษ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทและเดินทางกลับต่างจังหวัดแล้ว

ดังนั้น ขอความร่วมมือจังหวัดอื่น ๆ ได้มีการเฝ้าระวังในช่วงหน้าร้อนนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงใหม่บ่อขยะ เพราะเมื่อเกิดเหตุอาจก่อให้เกิดสารพิษในอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สารไดออกซินและฟิวแรน หากไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ในระยะสั้น สารพิษเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงได้

หากสัมผัสทางดวงตา จะเกิดระคายเคืองตา ตาแดง ส่งผลต่อการมองเห็น หากสัมผัสทางการหายใจ ส่งผลต่อระบบประสาททำให้มีอาการมึนงง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายอ่อนแรง หายใจหอบ หายใจถี่ แต่หากสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดการคันผิวหนัง ระคายเคือง แสบผิว บวม แดง ผิวหนังไหม้ สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัวจะมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น โรคหอบหืด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง ส่วนสตรีมีครรภ์ หากได้รับสารเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ หากเกิดเพลิงไหม้ บ่อขยะ ดังนี้

1) สวมใส่ชุดป้องกันอันตรายจากไฟ สารเคมี ที่ปกคลุมดวงตา ใบหน้าพร้อมสวมถุงมือป้องกันผิวหนัง

2) ประเมินการปนเปื้อนของสารพิษในอากาศ เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของการรับสัมผัส ก่อนเลือกชุดป้องกันตนเองจากสารเคมีที่เหมาะสม โดยให้ใส่หน้ากากป้องกันไอระเหยสารเคมีร่วมด้วย

3) ประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของไฟไหม้และอพยพผู้ที่อาศัยหรือทำงานในบ่อขยะ และประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงออกจากที่พักอาศัยเพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพ และ 4) จัดเตรียมอุปกรณ์

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไว้ในบริเวณที่สารเคมีรั่วไหลไม่ถึง และดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

“สำหรับประชาชนควรปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

1) ติดตามข่าวสาร สถานการณ์ การแจ้งเตือนภัยสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ อย่างเคร่งครัด

2) หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร และสวมหน้ากากป้องกันสารเคมี หรือหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อลดความเสี่ยงจากสารพิษ

3) กรณีหน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือนให้มีการอพยพจากบ้านเรือน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพ ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนจากเพลิงไหม้ที่ลุกลามมายังอาคารที่พักของตนเอง

4) สังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ หากมีอาการผิดปกติจากการสูดดมสารพิษให้แจ้งเจ้าหน้าที่ และพบแพทย์โดยด่วน

5) หากพบอาการระบบทางเดินหายใจ รวมถึงอาการไอบ่อย ๆ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่ายหรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ให้ปรึกษาแพทย์ หรือไปที่สถานบริการสาธารณสุขทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย / 13 เมษายน 2565