กรม สบส. เผยประชาชนร้อยละ 74 ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หวั่นคนแออัด เน้นมาตรการ UP

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงเทศกาลสงกรานต์ 5 อันดับ พบประชาชนร้อยละ 74 ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด หวั่นคนแออัดซื้อของ ในการทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว และสังสรรค์คนใกล้ชิด ย้ำมาตรการ Universal Prevention  

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ประเพณี ปีใหม่ไทย เป็นเทศกาลที่มีการรวมตัว รวมกลุ่ม มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ได้ง่าย และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีมาตรการป้องกัน ส่งผลให้หลังเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เสี่ยงอันตรายต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา จึงได้ทำการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 ผ่านระบบออนไลน์  ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 5 เมษายน 2565

โดยได้รับความอนุเคราะห์ในการเผยแพร่เครื่องมือจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียน เซนต์ ยอห์นบอสโกศูนย์การเรียน    เซนต์ยอห์นบอสโกปทุมธานี ศูนย์การเรียน เซนต์ ยอห์นบอสโก กบินทร์บุรี ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซ่า ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซ่า อีสเทิร์น  ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซ่า เซาท์เทิร์น  และประชาชนทั่วไป มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 1,405 คน พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด 19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 อันดับ ดังนี้

1) ประชาชนร้อยละ 74 จะไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสดด้วยตนเอง

2) ประชาชนร้อยละ 58.8 จะไปพบปะกราบขอพรผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่ไม่พบกันมานาน

3) ประชาชนร้อยละ 48.5 จะกินอาหารร่วมกันกับญาติมิตร

4) ประชาชน  ร้อยละ 41.1  จะรวมกลุ่มตามประเพณีที่เคยทำในเทศกาลสงกรานต์

5) ประชาชนร้อยละ 23.3 จะเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนาด้วยรถโดยสารขนส่งสาธารณะ

จากผลสำรวจพบว่าทุกพฤติกรรมล้วนมีความเสี่ยงในการติดโควิด 19 ทั้งสิ้น แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตาม Universal Prevention การป้องกันโควิด 19 แบบครอบจักรวาล

ด้านทันตแพทย์อาคม  ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การป้องกันการติดโควิด 19 ที่มีการติดเชื้อง่ายและแพร่กระจายได้รวดเร็ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องกลับภูมิลำเนาพบญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ การจับจ่ายซื้อของด้วยตนเอง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและตลาดสด และมีการรับประทานอาหารร่วมกันกับญาติมิตร ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงโควิด 19 ที่จะนำไปสู่ผู้สูงอายุได้

ดังนั้นเพื่อให้การฉลองเทศกาลสงกรานต์ไม่เสี่ยง ขอความร่วมมือประชาชนรักษามาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล Universal Prevention อย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อพูดคุยกัน และแยกสำรับอาหาร และใช้อุปกรณ์ส่วนตัว และเน้นย้ำให้ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าติดเชื้อโควิด 19 ให้รีบตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้มีความเสี่ยงติดโควิด 19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายไปยังผู้สูงอายุในครอบครัว พร้อมกับร่วมเป็นส่วนหนึ่งเทศกาลสงกรานต์ปลอดภัยลดเสี่ยงเลี่ยงโควิด 19 และ ร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เน้นมาตรการ  “ไม่เมา สวมหมวก ใส่แมสก์

***** 13 เมษายน 2565