กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรระวังด้วงงวงมะพร้าว ศัตรูร้ายทำลายคุณภาพผลผลิต ชี้เป็นภัยเงียบเพราะเข้ากัดกินและเติบโตในต้นมะพร้าว ยากต่อการมองเห็น กว่าจะรู้มะพร้าวเข้าขั้นโคม่า แนะวิธีป้องกันกำจัดตามหลักวิชาการช่วยยืดอายุมะพร้าวได้
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันศัตรูมะพร้าวที่พบทำลายผลผลิตของเกษตรกรมีทั้งโรค แมลง ไร สัตว์ศัตรูพืช และวัชพืช ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตมะพร้าวไม่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะด้วงงวงมะพร้าวในประเทศไทยพบทำลายมะพร้าวอยู่ 2 ชนิด คือ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ซึ่งจัดเป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก โดยด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่มักชอบทำลายมะพร้าวบริเวณยอดอ่อน ในขณะที่ด้วงงวงชนิดเล็กชอบเจาะหรือทำลายบริเวณลำต้น
การเข้าทำลายของด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก จะทำลายมะพร้าวโดยเจาะเข้าไปในลำต้น และส่วนยอด เช่น บริเวณคอมะพร้าว ซึ่งการเข้าทำลายในระยะเริ่มแรกเกษตรกรอาจไม่ทราบ เพราะหนอนเจาะเข้าไปกัดกินและเจริญเติบโตอยู่ภายในต้นมะพร้าว กว่าจะทราบมะพร้าวก็ถูกทำลายอย่างรุนแรง เช่นยอดเน่า หรือลำต้นถูกกัดกินจนเป็นโพรงไม่อาจป้องกันหรือรักษาได้ทัน โดยมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวทำลายส่วนใหญ่จะตาย ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็กมักทำลายตามรอยทำลายของด้วงแรดมะพร้าว โดยวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้นหรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ หรือบริเวณรอยแตกของเปลือก ซึ่งด้วงงวงมะพร้าวสามารถเจาะส่วนที่อ่อนของต้นมะพร้าวเพื่อวางไข่ได้ หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว ทำให้เกิดแผลเน่าภายในต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายโดยจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ และทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด
ส่วนด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่เคยระบาดรุนแรงในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หนอนของด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่จะอาศัยกัดกินในต้นมะพร้าวตลอดอายุขัยจนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยภายในลำต้นเช่นเดียวกับด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก จึงยากต่อการป้องกันกำจัด หากหนอนเข้าทำลายบริเวณยอดจะทำให้มะพร้าวตายอย่างรวดเร็ว
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดด้วงงวงมะพร้าวที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำเกษตรกรให้ปฏิบัติตามนั้น มีดังนี้
- ป้องกันและกำจัดด้วงแรดมะพร้าวอย่าให้ระบาดในสวนมะพร้าว เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้จะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และเมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนแล้วตัวหนอนของด้วงงวงมะพร้าวก็จะเข้าไปทำลายในต้นมะพร้าวได้ง่าย
- ใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณแผลโคนต้นหรือลำต้นมะพร้าว เพื่อป้องกันการวางไข่
- ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ทำลาย ควรตัดโค่นทอนเป็นท่อนแล้วผ่าจับหนอนทำลาย ไม่ควรให้ต้นมะพร้าวเกิดแผลหรือปลูกโคนลอยเพราะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายในต้นมะพร้าวได้ หากลำต้นเป็นรอยแผล ควรทาด้วยน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง เพื่อป้องกันการวางไข่
- ใช้คลอร์ไพริฟอส 40% ECอัตรา80 มล./น้ำ 20 ลิตร หยอดตามรอยแผลหรือรูเจาะที่เกิดจากด้วงแรด ถ้าพบตัวเต็มวัยของด้วงงวงบริเวณรอบคอมะพร้าว ควรราดบริเวณบาดแผลที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน พร้อมอุดรูด้วยดินน้ำมันหรือดินเหนียว หรือใช้สารฆ่าแมลงฉีดเข้าไปในลำต้นมะพร้าวเช่นเดียวกับวิธีป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว
“อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดภายในสวน โดยไม่แน่ใจว่าเป็นแมลงศัตรูชนิดใด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาคซึ่งมีอยู่ทั้ง 8 เขตทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจและให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้อง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-7580 และ 0-2579-5583 ต่อ 133, 134” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
***********************************