ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านการเรียนรู้ของบุคคลและด้านการบริหารจัดการองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมีผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่จำนวนเด็กไทยเกิดน้อยลง และสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ทำให้การพึ่งพาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยลดน้อยลง
รศ.นพ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าภายใต้การบริหารงานในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นคนที่ 11 ได้กำหนด วิสัยทัศน์ ในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก มีบทบาทหน้าที่ ในการอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ การเสริมสร้างความก้าวหน้าและยั่งยืน โดยบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด KKU Transformation การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อความก้าวหน้าและการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนท่ามกลางวิฤตอุดมศึกษา ซึ่งได้มีการกำหนดทิศทางในการบริหารมหาวิทยาลัยให้พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสรีภาพทางความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้รวมไปถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลสู่สังคม
โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา Education Transformation เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน และประชาชน ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ พัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom) เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Experiential learning) โดยเน้นให้มีสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่เพียงพอ ปรับเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ เน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต (Future skills) โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น E-commerce, AI, Big data, Data science และ IOTนอกจากนี้ยังสร้างหลักสูตรใหม่ตามความต้องการของสังคมและมีหลักสูตรสำหรับประชาชนทุกอายุ เช่น AI programmer, Blockchain programmer, Data science, Machine learning, AI, Robotic engineering, Mechatronics เป็นต้น และที่สำคัญคือการสร้างหลักสูตรสำหรับประชาชนเพื่อรองรับเทคโนโลยีในการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยจัดการเรียนรู้เป็นชุดวิชา (Modular system) ซึ่งมีทั้งที่ต้องการปริญญา (Degree)และไม่ต้องการปริญญา (Non-degree) สามารถเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัยและการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งสามารถเรียนได้ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกคน มีระบบให้ผู้เรียนสามารถสะสมชุดวิชาเพื่อรับปริญญาในภายหลังได้
และในภาวะที่เทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโครงข่ายและโปรแกรมการใช้งานที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อสนับสนุนทั้งการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการ และการบริหารจัดการ พัฒนาและส่งเสริมการวิจัยเชิงลึกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะด้าน AI, Machine learning, Big data Analytic, Digital Marketing ฯลฯ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในการต่อยอดด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และพัฒนานวัตกรรม การบ่มเพาะภายในเพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทาง
นอกจากนี้ยังมีการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Collaboration & amp;Coordination) โดยการจัดทำโครงการที่เป็นเรือธงในการพัฒนา (Flag ship projects) ที่เป็นความร่วมมือของคณะและหน่วยงานที่จะทำงานร่วมกันที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ และเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแต่ละคณะก่อให้เกิดความก้าวหน้าและเกิดคุณค่าร่วมกันของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)โครงการศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical hub)เป็นโครงการหลักสำหรับคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถเป็นที่ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาเคมีและคอมพิวเตอร์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาร่วมพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุได้อีกด้วย 2)โครงการฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farming) เป็นโครงการหลักสำหรับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตร และวิศวกรรมไฟฟ้าและคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาภูมิสารสนเทศ 3) โครงการศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์และชุมชนสัมพันธ์ เป็นโครงการหลักสำหรับคณะในกลุ่มสังคมศาสตร์ที่จะมาทำงานร่วมกันเพื่อศิลปวัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน
ซึ่งการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ประกอบด้วย 11 ยุทธศาสตร์ 35 กลยุทธ์ และ 61 แผนงานได้แก่ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย (Research Transformation) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Transformation) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร (Management Transformation) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่น่าทำงาน (Best place to work) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7 สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 8 ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 9 การนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ (Internationalization) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 10 การบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 11 เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Collaboration/Coordination Projects) จะทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่และทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถผ่านพ้นวิกฤตอุดมศึกษา มีการพัฒนาและมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาภูมิภาคและประเทศได้เป็นอย่างดี