รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงสาธารณสุขเปิดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์เขตสุขภาพที่ 10 “มุกศรีโสธรเจริญราชธานี” ภายใต้แนวคิด “หายเจ็บ หายจน รวมพล คนรักกัญ” เน้นนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจสุขภาพ เชื่อมต่อสถานที่ปลูก ผลิตกัญชา กัญชง กับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่
วันที่9 เมษายน 2565 ที่อาครารสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมองเห็นศักยภาพของพืชกัญชาที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เป็นการส่งเสริมทางเลือกในการรักษาให้กับประชาชน รวมถึงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน จากการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ในหลายเขตสุขภาพที่ผ่านมาพบว่ามีการพัฒนาในทิศทางที่ดีเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นยารักษายังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 “มุกศรีโสธรเจริญราชธานี” มีจุดเด่น คือ มีนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจสุขภาพ นำกัญชากับสถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นจุดขาย โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมต่อสถานที่ปลูก ผลิตกัญชา กัญชง กับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เช่น วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว กับ ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี, ไร่กัญชามาทวีฟาร์ม กับผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ, ออร์แกนิค คาเฟ่ กาแฟสายสุขภาพ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร , ศูนย์แพทย์แผนไทยและแหล่งปลูกกัญชา กับพระเหลาเทพนิมิต อ.พนาจ.อำนาจเจริญ และโรงงานสมุนไพร กับ ทุ่งกังหันลม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร เป็นต้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และในจังหวัดได้อย่างมาก
ด้านนพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี มีโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน เปิดให้บริการรวม 68 แห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาได้อย่างปลอดภัย โดยตั้งแต่ตุลาคม ถึงธันวาคม ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลภาครัฐในเขตสุขภาพฯ ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชารวม 4,537 ราย เป็นแผนไทย 4,202 ราย และแผนปัจจุบัน 335 ราย
ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นโดยมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างการขออนุญาต 19 แห่ง และแสดงเจตจำนงขอปลูกอีก 17 แห่ง มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต 2 แห่ง เป็นภาครัฐ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพนา จ.อำนาจเจริญ และภาคเอกชน 1 แห่ง คือ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
จ.อุบลราชธานี
***************************************** 9 เมษายน 2565