ก.แรงงาน ตั้งโต๊ะ ระดมสมอง กูรูต้นตำรับอาหารไทย หวังพัฒนาหลักสูตร ช่วยยกระดับครัวไทย ก้าวไกลสู่ระดับสากล
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม หาแนวทางความร่วมมือการส่งเสริมยกระดับพ่อครัว แม่ครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตามนโยบาย 3 A ของกระทรวงและเป็นไปตามนโยบาย “ครัวไทย สู่ครัวโลก” ของรัฐบาล ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวกับอาหาร ควบคู่กับการพัฒนาฐานข้อมูลธุรกิจด้านอาหารในประเทศและต่างประเทศให้เป็นระบบ โดยใช้มาตรการจูงใจให้ธุรกิจบริการด้านอาหารร่วมให้ข้อมูลอย่างจริงจังและต่อเนื่องพร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการต่อยอดการมีงานทำ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ 20 ปี
โดยพล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและยกระดับพ่อครัวแม่ครัวไทยสู่ครัวโลกผ่าน 5 มาตรการคือ 1.เตรียมความพร้อมพ่อครัวแม่ครัวไทย 2.ขยายตลาดตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวไทย 3. สร้างมาตรฐานอาหารไทย 4.ส่งเสริมภาพลักษณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ และ 5. การวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จากการสำรวจพบว่า ตลาดแรงงานยังมีความต้องการพ่อครัวแม่ครัวอีก 15,600 คน แยกเป็นภายในประเทศ 11,600 คน ซึ่งกระทรวงดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 13,020 คน ส่วนตลาดต่างประเทศมีความต้องการ 4,000 คน ส่วนผลสำรวจข้อมูลด้านร้านอาหารไทย พบว่า ทวีปอเมริกาเหนือมีร้านอาหารไทย 5,342 แห่ง ยุโรป 2,000 แห่ง ออสเตรเลีย/โอเชียเนีย 3,000 แห่ง และประเทศกลุ่มอาเซียน 1,323 แห่ง โดยในปี2562 มีแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยทวีปเอเชียสูงเป็นอันดับหนึ่ง 295 คน ทวีปยุโรป 76 คน ตะวันออกกลาง 44 คน ออสเตรียและโอเชียเนีย 22 คน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ การส่งเสริมศักยภาพมาตรฐานฝีมือแรงงานในต่างประเทศ และออกหนังสือให้แรงงานไทยในต่างประเทศด้วย
ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มีการเชิญเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานในการส่งเสริมด้านอาหารไทย ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์ มาร่วมจัดทำหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยมืออาชีพ (Profestional Thai Chef) ระยะเวลาการฝึก 90 ชั่วโมง และนำไปจัดฝึกให้แรงงาน เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นพ่อครัวแม่ครัวไทยมืออาชีพ และไปทำงานทั้งในและต่างประเทศ ร่วมส่งเสริมยกระดับพ่อครัวแม่ครัวไทยสู่ครัวโลก โดยขอให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอผลดำเนินการที่ผ่านมาและแผนที่จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานในการพัฒนาศักยภาพพ่อครัวแม่ครัว ให้สามารถรักษาเอกลักษณ์และคงความเป็นต้นตำรับอาหารไทยที่แท้จริง เพื่อตอบสนองนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกรวมทั้งส่งพ่อครัวแม่ครัวไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี2562 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานตามโครงการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารรองรับครัวไทยสู่ครัวโลกแยกเป็นการฝึกอบรม3,706 คน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศ 994 คน และ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในต่างประเทศ.