เปิดตัวเลขไม้ผลภาคใต้ตอนบน สศก. คาด ผลผลิตรวม 542,797 ตัน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้คาดการณ์ถึงข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างไปแล้วนั้น ในส่วนของไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ประมาณการไม้ผลในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต   (ข้อมูล ณ 19 มี.ค. 2562) พบว่า ผลผลิตในภาพรวม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนมีจำนวน 542,797 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 396,168 ตัน (เพิ่มขึ้น 146,629 ตัน หรือร้อยละ 37.01) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปี กอปรกับราคาไม้ผลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยเฉพาะทุเรียน เกษตรกรจึงเอาใจใส่ดูแลสวนผลไม้มากขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่ของทั้ง 4 ชนิดพืช มีทิศทางเพิ่มขึ้น เพราะสภาพต้นสมบูรณ์ พร้อมต่อการออกดอกติดผล ส่งผลให้ไม้ผลออกดอก ติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อจำแนกปริมาณไม้ผลแต่ละชนิดของภาคใต้ตอนบน พบว่า

ทุเรียน ภาคใต้ตอนบน มีเนื้อที่ยืนต้น 369,913 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 6.37  เนื้อที่ให้ผล 283,395 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26  ผลผลิตรวม 338,270 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.94  ผลผลิตเฉลี่ย 1,194 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.80

มังคุด เนื้อที่ยืนต้น 190,621 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 0.23 เนื้อที่ให้ผล 181,681 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.71 ผลผลิตรวม 129,022 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.61 ผลผลิตเฉลี่ย 710 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.31

เงาะ เนื้อที่ยืนต้น 47,973 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 9.53 เนื้อที่ให้ผล 46,667 ไร่ ลดลงร้อยละ 10.27 ผลผลิตรวม 50,360 ตัน ลดลงร้อยละ 1.95  ผลผลิตเฉลี่ย 1,079 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.21 ทั้งนี้ เนื้อที่ให้ผลเงาะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มังคุด ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

ลองกอง เนื้อที่ยืนต้น 57,443 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 22.77  เนื้อที่ให้ผล 56,121 ไร่ ลดลง ร้อยละ 22.33 ผลผลิตรวม 25,145 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.61 ผลผลิต 448 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.37 อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อที่ให้ผลลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่วงแล้งที่เหมาะสมให้ลองกองออกดอก มากกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ผลผลิตปีนี้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมของไม้ผลภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 712,002 ตัน  เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลผลิต 529,385 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.20  โดยแยกเป็นผลผลิตภาคใต้ตอนบน จำนวน 542,797 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 76.24 ของผลผลิตทั้งภาคใต้) และผลผลิตภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 169,205 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 23.76 ของผลผลิตทั้งภาคใต้) ทั้งนี้ คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ จะมีการประชุมพิจารณาร่วมกันอีกประมาณ 2 ครั้ง และจะได้ข้อสรุปเป็นข้อมูลเอกภาพประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่ง สศก. จะรายงานให้ทราบต่อไป

ด้าน นายชาญชัย  ศศิธร ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จ.สุราษฎร์ธานี (สศท.8) กล่าวว่า ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และออกมากสุดในเดือนสิงหาคม ซึ่ง สศท.8 จะได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง ช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงปลายเดือนเดือนมิถุนายน นี้ เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปีนี้ ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเพื่อติดตามสถานการณ์ไม้ผลในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับท่านที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 0 7731 1597 หรืออีเมล zone8@oae.go.th

***********************************

ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

5 ไฟล์แนบ