กรมสุขภาพจิต ห่วงใยปัญหาหมอกควันภาคเหนือ แนะใช้ 3 ส.รับมือช่วยลดเครียด
กรมสุขภาพจิต ห่วงใยประชาชนเกิดความเครียดจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง หมอกควันทางพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีค่า PM 2.5 สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน แนะนำให้ใช้ 3 ส. ในการรับมือ และมีการป้องกันที่ดีจะช่วยลดความเครียดลงได้
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปัญหาของฝุ่นละอองหมอกควัน ค่า PM 2.5 สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน ในหลายๆ พื้นที่ทางภาคเหนือที่มีมาร่วมหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของหลายๆคน รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะสุขภาพใจนั้น หากเราเกิดความเครียดจะทำให้เกิดอาการหงุดหงิด วิตกกังวล กลัว คิดมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องการเรียนหรือการทำงานได้ ดังนั้น เราจึงควรต้องดูแลสุขภาพทางใจให้ดีเป็นพิเศษในช่วงนี้เป็นสิ่งสำคัญ สร้างความตระหนักและไม่ตื่นกลัว แต่เน้นตื่นตัวในการป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง และเลือกรับฟังข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำประชาชนให้ใช้หลัก 3 ส. เพื่อเป็นการปฐมพยาบาลทางใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองหมอกควันในเบื้องต้น ประกอบด้วย ส.ที่ 1 คือ ให้สอดส่องมองหา ผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช เป็นต้น ส.ที่ 2 คือ ใส่ใจ รับฟัง เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ เพื่อช่วยให้อารมณ์สงบขึ้น สบายใจขึ้น และ ส.ที่ 3 คือ ส่งต่อความช่วยเหลือสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้กัน เช่น น้ำ อาหาร ยา จะช่วยบรรเทาความทุกข์ในเบื้องต้น และมีความเข้มแข็งทางใจเพิ่มขึ้น สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤติหรือความยากลำบากไปได้ หากเรามีการป้องกันตนเองที่ดีจากฝุ่นละออง หมอกควัน จะช่วยลดความเครียดลงได้ด้วยเช่นกัน เช่น เวลาที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันได้ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องออกแรง ไม่เปิดประตูหน้าต่างให้ฝุ่นละอองเข้ามาในตัวบ้านเรือนหรืออาคารสถานที่ มีการทำความสะอาดห้องภายในบ้านโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถู เลี่ยงมลพิษจากการใช้เตาถ่าน การเผาอะไรต่างๆ เลี่ยงการจุดธูป จุดเทียน การสูบบุหรี่ ปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองอากาศและผลิตออกซิเจน เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจจะหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง ทั้งนี้ หากใครยังเครียดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการด้านสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
***4 เมษายน 2562***