สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ รับรักษาผู้ป่วยโควิด19 ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง จากโรงพยาบาล บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ช่วยชีวิตรอดปลอดภัย ด้วยการใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (mechanical thrombectomy) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาทและสมอง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคปลายประสามอักเสบ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ได้มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยโควิด19 เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยระดมกำลังบุคลากรภาคส่วนต่างๆในสถาบันมาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ตั้งแต่มีการระบาดในระลอกแรก พร้อมทั้งยังมีการเปิดให้การรักษาผู้ป่วยโรคระบบประสาทและสมองไปพร้อมกัน เป็นการบูรณาการและบริหารงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตโควิด 19 ซึ่งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ได้รับการประสานงานจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ในการขอส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และได้รับแจ้งว่าผู้ป่วยรายนี้ติดโควิด 19 ด้วย สถาบันประสาทวิทยาจึงได้วางแผนการรับ รักษาผู้ป่วยรายนี้ เพื่อช่วยชีวิตให้ได้ทันเวลาตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (mechanical thrombectomy) จนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยชายอายุ 76 ปี มีโรคประจำตัวเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีประวัติเป็นโรคเบาหวานระยะลุกลาม ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 เนื่องจากมีอาการไอ เจ็บคอ เข้ารับการรักษาแบบ home isolation กับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับยา Flavipiravir รับประทานตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2565 และในวันที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 10.30 น. ลูกสาวของผู้ป่วยพบผู้ป่วยอยู่ในห้อง มีอาการปกติ จนกระทั่งเวลา 11.00 น. ได้ยินเสียงผู้ป่วยร้องอืออา ลูกสาวพบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงร่างกายซีกขวา พูดไม่ชัด สื่อสารไม่เข้าใจ จึงเรียกรถกู้ภัยเพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ถึงโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เวลา 12.00 น. แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกาย สัญญาณชีพ ความดันโลหิต 180/98 มิลลิเมตรปรอท ชีพจร 102 ครั้ง/นาที อุณหภูมิร่างกาย 36.5 องศาเซลเซียส และหายใจ 20 ครั้ง/นาที และได้ทำการติดต่อส่งตัวผู้ป่วยมาสถาบันประสาทวิทยา และเมื่อเวลา 15.20 น. ผู้ป่วยมาถึงสถาบันประสาทวิทยา แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายพบผู้ป่วยไม่พูด มีภาวะ global aphasia ตรวจกำลังกล้ามเนื้อแขนและขา
ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือด (mechanical thrombectomy) เพื่อนำลิ่มเลือดออก ทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตและปลอดภัย ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วย โดยการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ขณะนี้ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ ห้อง Negative Stroke unit เพื่อให้แพทย์ดูอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วย มีอาการดีขึ้น จะได้ทำการส่งกลับไปยังโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครต่อไป