ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่ 5 เม.ย. 65 ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.51 บาทต่อดอลลาร์

แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากที่สหรัฐฯ และพันธมิตรฝั่งตะวันตกออกมาประณามความรุนแรงที่เกิดในเมือง Bucha ของยูเครน แต่ผู้เล่นในตลาดการเงินกลับไม่ได้กังวลประเด็นดังกล่าวมากนัก ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นในตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า สถานการณ์สงครามมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อ แต่ความรุนแรงอาจเริ่มจำกัดลง

อนึ่ง ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +1.90% ท่ามกลางแรงซื้อหุ้นเทคฯ อย่างต่อเนื่อง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Twitter +27% จากรายงานข่าวว่า Elon Musk ได้เข้าถือหุ้นกว่า 9% ซึ่งการปรับตัวขึ้นของหุ้น Twitter ยังช่วยหนุนให้ หุ้นกลุ่ม Social Media อื่นๆ ปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.81%

ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่าตลาดจะเผชิญความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพ ทว่า ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.83% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า เศรษฐกิจยุโรปจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี หากสงครามไม่ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบัน ทำให้หุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ Louis Vuitton +2.2%, Kering +1.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหุ้นจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ตามฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน นำโดย Adyen +3.4%, ASML +1.8% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนของสงครามและการเจรจาสันติภาพ ทำให้ Risk/Reward ยังไม่น่าสนใจและแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าในฝั่งตลาดหุ้นจะสะท้อนภาพผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยง ทว่าในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดกลับมีมุมมองที่กังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันเศรษฐกิจและนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ สะท้อนผ่าน การเกิด Inverted Yields Curve ขึ้นระหว่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบอนด์ยังเลือกที่จะถือบอนด์ระยะยาวอยู่และกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.40% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุดในวันพฤหัสฯ นี้ ซึ่งหากเฟดมีการเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการลดงบดุลและส่งสัญญาณพร้อมลดงบดุลในเดือนพฤษภาคม ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 99 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามและความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้ สกุลเงินยูโร (EUR) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.098 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และโดยรวมตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ความไม่แน่นอนของสภาวะสงครามและการเจรจาสันติภาพ ก็หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงถือครองทองคำ เพื่อหลบความผันผวนในระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง หนุนโดยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง กอปรกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะสะท้อนผ่านการขยายตัวของภาคการบริการที่ดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมีนาคม อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58.4 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน หลังจากที่ทางการจีนเผชิญการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรง  อาจกดดันให้ธนาคารกลางในฝั่งเอเชียยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจและติดตามพัฒนาการของสถานการณ์สงครามและภาพเศรษฐกิจจีน โดยธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10%

สำหรับในฝั่งไทย เราประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่หนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานพุ่งสูงขึ้น รวมถึงราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบ และระดับฐานราคาสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อนหน้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนมีนาคม พุ่งขึ้นแตะระดับ 6.0%y/y หรือ เพิ่มขึ้นราว +0.9% จากเดือนก่อนหน้า ทว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าที่ยังไม่ได้ขยายเป็นวงกว้าง จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลักมากนัก ขณะเดียวกันการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจถูกกดดันจากผลกระทบของราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นและความไม่แน่นอนของสงคราม จะทำให้ ธปท. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวและแนวโน้มสถานการณ์สงคราม รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน ที่ยังมีการระบาดที่รุนแรงอยู่และอาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลมายังบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งเอเชียได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้างและยังไม่มีแนวโน้มการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ยังคงเป็นความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอยู่ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ยังน่ากังวล ก็อาจกดดันค่าเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับจีนสูง อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังพอมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากทั้งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังเดินหน้า ซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์ ที่เริ่มเห็นแรงซื้อสุทธิทั้งบอนด์ระยะสั้นและระยะยาวมากขึ้น

อนึ่ง เงินบาทยังคงมีแนวต้านในโซน 33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกก็ต่างรอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญในระยะสั้นจะอยู่ในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งบรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะ buy on dip อยู่ ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.55 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย