บอร์ดภาพยนตร์ฯผลักดันธุรกิจแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์เติบโต มอบ วธ.- สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นฯ จัดทำแนวทางมาตรการทางภาษี

บอร์ดภาพยนตร์ฯผลักดันธุรกิจแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์เติบโต มอบ วธ.- สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นฯ จัดทำแนวทางมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างผลิตแอนิเมชั่น เกม เทคนิคพิเศษ visual Effect ฯลฯ ต่างประเทศในไทย ชี้ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการผลิตกว่า 2,873 ล้านบาท คาด 3 ปี ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 พร้อมเผยตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 – ต้น มี.ค.65 ต่างชาติมาถ่ายทำภาพยนตร์ ซีรีส์ โฆษณา ในไทย 196 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 6,384 ล้านบาท

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะรองประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 และผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting) ว่า ที่ประชุมหารือแนวทางจัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างผลิตวีดิทัศน์ (ดิจิทัลคอนเทนต์) ในประเทศไทย

เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ทั่วโลกและในไทยมีการเติบโตและมูลค่าเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะนี้ธุรกิจนี้ทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 12,020 ล้านเหรียญสหรัฐฯและ 97 ประเทศทั่วโลกมีนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ที่ร้อยละ 20-45 เพื่อจูงใจในการผลิตและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ 230 รายที่ให้บริการงานผลิตภาพยนตร์ แอนิเมชัน ละครโทรทัศน์ โฆษณา สื่อและเกมแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศโดยมีมูลค่าการผลิตกว่า 2,873 ล้านบาท

ซึ่งในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการส่งออกร้อยละ 57 หากได้รับการสนับสนุนจากมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คาดว่าจะทำให้มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในระยะ 3 ปี ดังนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมอบหมายกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและจัดทำร่างแนวทางการจัดทำมาตรการทางภาษีฯเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามของไทยและการจ้างงานคนไทยเสนอต่อคณะกรรมการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน (Soft Power) ที่มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนได้แก่

1.กำหนด “ภาพลักษณ์ประเทศ”

2. คัดเลือกภาพลักษณ์ประเทศ สินค้า บริการ อุตสาหกรรม นโยบายหน่วยงาน เพื่อดำเนินโครงการดำเนินการนำร่อง

3. จัดทำแผนการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน

4.ดำเนินการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุนโดยใช้ศักยภาพสื่อบันเทิงไทยและผ่านกลไกคณะกรรมการระดับชาติ

5.ติดตามประเมินผลเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ขณะนี้คณะทำงานในคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุนอยู่ระหว่างจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ อีกทั้งที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าการเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)บรรจุวิชาการสร้างภาพยนตร์ เป็นวิชาเลือกของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในวิชาศิลปะ ขณะนี้ศธ.ส่งเสริมให้วิชาดังกล่าวเป็นวิชาเลือกของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในเรื่องผลการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนให้กองถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณาทำงานต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565) มีทีมงานภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด 196 เรื่อง สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 6,384 ล้านบาท

โดยในจำนวนนี้มีภาพยนตร์ที่มีคณะถ่ายทำเดินทางมาจากต่างประเทศจาก 33 ประเทศ เข้ามาถ่ายทำทั้งหมด 86 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 4,225 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่เดินทางเข้ามาสูงสุด ได้แก่ อินเดีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร โดยประเทศที่มีงบประมาณลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกากว่า 1,950 ล้านบาท เครือรัฐออสเตรเลียกว่า 702 ล้านบาท และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกว่า 616 ล้านบาท