สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยพุ่ง สนค. แนะโอกาสของเกษตรอินทรีย์

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ปุ๋ย ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ติดตามสถานการณ์การค้าและราคาปุ๋ยอย่างใกล้ชิด

นายรณรงค์ กล่าวว่าเนื่องจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนมีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยไนโตรเจนสูงขึ้นตามไปด้วย และรัสเซียผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับ 1 ของโลก ได้จำกัดการส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อกลุ่มราคาอาหารที่สูงขึ้น และป้องกันการขาดแคลนปุ๋ยในประเทศ และจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 รัสเซียระงับการส่งออกปุ๋ยและสินค้าอื่น ๆ กว่า 200 รายการ เพิ่มเติมจากที่ระงับส่งออกปุ๋ยกลุ่มไนโตรเจนไปก่อนหน้า ตอบโต้การคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก รวมทั้งจากการที่จีนที่มีนโยบายส่งออกปุ๋ยน้อยลง จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกรวมทั้งไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาวะเงินเฟ้อของไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น

ไทยจำเป็นต้องนำเข้าปุ๋ย เนื่องจากผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยรวม 5.6 ล้านตัน เป็นมูลค่า 73,860.20 ล้านบาท แบ่งเป็นปุ๋ยไนโตรเจน 2.74 ล้านตัน มูลค่า 33,185.24 ล้านบาท ปุ๋ยผสม 1.92 ล้านตัน มูลค่า 30,081.50 ล้านบาท ปุ๋ยโพแทสเซียม 0.98 ล้านตัน มูลค่า 10,558.40 ล้านบาท ปุ๋ยฟอสฟอรัส 4,238.7 ตัน มูลค่า 15.43 ล้านบาท และปุ๋ยอินทรีย์ 490.5 ตัน 19.62 มูลค่า 19.62 ล้านบาท แหล่งนำเข้าปุ๋ยที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย รัสเซีย และกาตาร์ สัดส่วนร้อยละ 22.3 14.5 8.8 7.9 และ 7.0 ตามลำดับ

สำหรับการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง สนค. เห็นว่าในระยะสั้น ควรส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ในสัดส่วนที่เหมาะสมคุ้มค่า และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนให้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการกระจายแหล่งนำเข้า โดยอาจนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น และหาแหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยแหล่งใหม่เพิ่มเติม อาทิ ตุรกี (แม่ปุ๋ยไนโตรเจน) และบราซิล (แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม) ระยะกลาง ควรส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศให้มากขึ้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้วัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งจากวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรใน
การจำหน่ายวัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตรนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์

และในระยะยาว ควรส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Fertilizer) กำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ถือเป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ ตลอดจนสร้างความโปร่งใสด้านข้อมูลให้ตลาดปุ๋ยภายในประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการใช้กับปริมาณปุ๋ยภายในประเทศ รวมทั้งข้อมูลราคา การกระจายของสินค้า โดยอาจมีการแจ้งเตือนสต็อกล่วงหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดการกักตุน หรือปรับเพิ่มราคา

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกปุ๋ยที่สำคัญของโลก ข้อมูลสถิติจาก Trade Map พบว่า ปี 2563 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับที่ 1 ของโลก มีปริมาณทั้งสิ้น 34.13 ล้านตัน มูลค่า 6,992.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 13.01 ของมูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีโลก โดยขนิดปุ๋ยที่รัสเซียมีการส่งออกในปริมาณมากไปน้อย ดังนี้

(1) ปุ๋ยไนโตรเจน 13.73 ล้านตัน มูลค่า 2,484.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

(2) ปุ๋ยผสม 10.82 ล้านตัน มูลค่า 2,731.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

(3) ปุ๋ยโพแทสเซียม 9.58 ล้านตัน มูลค่า 1,776.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

(4) ปุ๋ยฟอสฟอรัส 1,714 ตัน มูลค่า 0.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
———————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
4 เมษายน 2565