กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยกลุ่มวัยทำงานมีภาวะอ้วน กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ สูบบุหรี่และ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ มีปัญหาด้านทันตสุขภาพเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ พร้อมแนะวิธีดูแลสุขภาพของตนเอง ช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชากรวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ เนื่องจากประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น สุขภาพที่ดีของคนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพนักงานมีสุขภาพดี มีความสุขกาย และสบายใจ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดี ต่อสถานประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศตามมาด้วย แต่จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพกลุ่มวัยทำงานจากแหล่งที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอตามข้อแนะนำ ร้อยละ 74.1 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ร้อยละ 57.4 สูบบุหรี่ ร้อยละ 19.5 ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 38.9 ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบในคนวัยทำงานพบว่าร้อยละ 91.8 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันผุ พบเหงือกอักเสบ ร้อยละ 62.4 และเป็นโรคปริทันต์ ร้อยละ 25.9 ซึ่งส่วนมากเป็นผลมาจากการทำงานตลอดทั้งวัน ส่งผลให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า จึงทำให้มองข้ามการใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งๆที่สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารให้เหมาะสม และเพิ่มกิจกรรมทางกายในระหว่างวันให้มากขึ้น
“เพื่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา มีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม งดอาหารทอดหรือผัด เพิ่มผัก ผลไม้ ในแต่ละวันรับประทานน้ำตาลไม่เกิน 4-6 ช้อนชา เกลือน้อยกว่า 1 ช้อนชา ผัก 4-6 ทัพพี ผลไม้สดรสไม่หวาน ประมาณ 15 คำ โดยเฉพาะมื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญ ถ้าเลี่ยงมื้อนี้ไป ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำตาล ส่งผลให้สมองไม่ปลอดโปร่ง เกิดความวิตกกังวล ใจสั่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด โมโหง่าย และงดกินจุบจิบระหว่างการทำงาน นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายระดับปานกลางวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 5 วัน ต่อสัปดาห์ เพื่อลดน้ำหนักและรอบพุงและควรทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในที่ทำงาน เช่น บริหารร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แขน ขา คอ ประมาณ 5 นาที 2 ครั้งต่อวัน เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ขี่จักรยานหรือเดินไปทำงาน เป็นต้น และรู้จักจัดการกับความเครียดโดยหางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ มองโลกในแง่ดีและคิดบวก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอ้วน ให้ลดน้อยลงได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด