พุทธศักราช 2565 นี้ เป็นปีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบการก่อตั้ง 130 ปี (พ.ศ. 2435-2565) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี โดยปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมเปิดบ้านต้อนรับผู้บริหาร ข้าราชการ ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมในงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 130 ปี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญตลอดทั้งวัน ในช่วงเช้าจัดพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงและสหกรณ์ และพิธีสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคล แก่ข้าราชการและบุคลากร เนื่องในวาระพิเศษดังกล่าว นอกจากนี้จัดให้มีพิธีมอบเกียรติบัตรและเครื่องหมาย เชิดชูเกียรติสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืน ประจำปี 2565 รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสำคัญ 130 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมในพิธี และอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ ถือเป็นไฮไลท์ของงานในครั้งนี้ คือ กิจกรรม “เหลียวหลัง แลหน้า 130 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมาบอกเล่าเรื่องราวถึงประวัติ ความเป็นมาของกระทรวงเกษตรฯ นับตั้งแต่เริ่มการก่อตั้ง พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2565 เหตุการณ์และนโยบายที่สำคัญ และการขับเคลื่อนภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับ ความปกติใหม่ (New Normal) ในปัจจุบันและอนาคต และเป็นประธานพิธีมอบคู่มือการวางแผนทดแทนตำแหน่ง (Succession Plan) ให้แก่รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 4 ท่าน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ.ราชดำเนินนอก เขตพระนคร และผู้ติดตามรับชมผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดีย Facebook Live “MOAC Thailand” ซึ่งครอบคลุมผู้รับชม ทั้งจากบุคลากรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนผู้สนใจรับชมจากทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน
ย้อนรอย 4 ยุค แห่งการสร้าง เสริม เติม รักษ์ “เหลียวหลัง” จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
นับย้อนกลับไปเมื่อ “เหลียวหลัง” จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดูแลขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 149.25 ล้านไร่ ขยายพื้นที่ชลประทานแล้ว กว่า 34.88 ล้านไร่ ดูแลเกษตรกร 8,037,722 ล้านครัวเรือน พื้นที่ ส.ป.ก. 30 ล้านไร่ พัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer รวม 506,078 ราย Young Smart Farmer รวม 18,215 ราย ผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เงินสดรวมเฉลี่ย 394,168 บาท/ครัวเรือน และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคการเกษตร เพิ่มขึ้นเป็น 1.38 ล้านล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ภาคการเกษตร” มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย จวบจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสร้างรากฐาน และพัฒนาทรัพยากรด้านดิน น้ำ และองค์ประกอบอื่นให้มี ความมั่นคงมาตามลำดับ ซึ่งมีพัฒนาการเด่นชัดภายหลังจากปี พ.ศ.2435 ที่ประเทศเริ่มมีการปรับปรุง ส่วนราชการและพัฒนาการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องโดยห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุง พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในหลายมิติ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุค แห่งการสร้าง เสริม เติม รักษ์ ดังนี้
ยุคที่ 1 สร้าง: Establish สร้างรากฐานทรัพยากรการเกษตรมั่นคง ยุคขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตร โดยการสร้างทรัพยากรดินและน้ำ พ.ศ. 2435 – 2474 (40 ปี)
ยุคที่ 2 เสริม: Educate เสริมความรู้ วางระบบรอบด้านเท่าทันการเปลี่ยนแปลงยุคขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรโดยการสร้างทรัพยากรดิน น้ำ และองค์ความรู้ พ.ศ. 2475 – 2504 (30 ปี)
ยุคที่ 3 เติม: Enhance เติมเต็มการพัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งจากภายในยุคขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรโดยปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต พ.ศ. 2505 – 2539 (35 ปี)
ยุคที่ 4 รักษ์: Environment รักษ์เกษตรสมัยใหม่ใช้นวัตกรรมนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนยุคขับเคลื่อน การพัฒนาเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและตลาดนำการผลิต พ.ศ. 2540 – 2565 (25 ปี)
“แลหน้า” ก้าวต่อไปของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุค Next Normal
เมื่อ “แลหน้า” การขับเคลื่อนภาคเกษตร ยังคงต้องมุ่งเน้นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการให้ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรในเวทีโลก” รวมทั้งเป้าหมายนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร เพื่อความอยู่ดี มีสุขของเกษตรกร โดยพิจารณาสถานการณ์และแนวโน้มที่เกี่ยวข้องในทุกระดับให้มากที่สุด ทั้งสถานการณ์โลก ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร โอกาสและภัยคุกคามของภาคเกษตรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เร่งให้โลกเข้าสู่ยุค Next Normal อย่างรวดเร็ว
ปี 2565 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการปรับแนวทางการทำงานของกระทรวง เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง วางรากฐานการพัฒนาภาคการเกษตรให้สอดคล้อง สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนำปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและแสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับภาคเกษตรในยุค Next Normal เป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไปในทิศทางที่ถูกต้อง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภาคเกษตรที่มุ่งหวัง มุ่งมั่นผลักดันเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรในเวทีโลก” โดย ผลักดันให้ไทย เป็น 1 ใน 7 ประเทศสำคัญของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงของโลกภายในปี พ.ศ. 2580(ครบ 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติและครบ 145 ปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายให้ภาคเกษตรต้องปรับตัวในยุค Next Normalทั้งการผลิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผลักดันการแปรรูปมูลค่าสูง ใช้การตลาดสมัยใหม่ หรือ “การตลาด 5.0”
การปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่ยุค “Next Normal”
เทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคตที่เกิดจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยี บริการดิจิทัลใหม่ ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ เน้นความสะดวกสบาย ปลอดภัยด้านสุขอนามัยและผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนำไปสู่เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal ที่จะเริ่มขยายตัวในวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงต้องมีการปรับตัวครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่
1) พัฒนาบุคลากรกระทรวงทั้งระบบครบวงจร โดยเปิดรับคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะทันสมัยผลักดันให้บุคลากร เร่งพัฒนาตนเองให้มีทักษะและความรู้ที่ทันสมัย (Re-skill/Up-Skill/New-Skill) พัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) วางแผนทดแทนตำแหน่ง (Succession Plan) ให้ต่อเนื่องพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานให้สอดคล้องกับยุค Next Normal
2) พัฒนากระบวนการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ให้เชื่อมโยงการวางแผนทุกระดับ บูรณาการข้อมูลภาคเกษตรทุกมิติ พัฒนาโครงการใหม่ที่ตอบโจทย์ สร้างความเข้มแข็งกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ (Single Command)
3) ผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมเกษตร สร้างและพัฒนานักวิจัยด้านการเกษตร ผลักดันการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรทุกด้าน พัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและการทำวิจัยร่วมกัน พัฒนาหน่วยบริการจับคู่นักวิจัยด้านการเกษตรกับผู้ประกอบการที่ครบวงจร
4) ยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน โดยเชื่อมโยงทุกเครือข่ายองค์กร เพื่อพัฒนาภาคเกษตร เสริมสร้างบทบาทเอกชนในการพัฒนา และพัฒนาเครือข่ายคนเกษตรและยกระดับองค์ความรู้
นิทรรศการโชว์ผลงานเด่น และชวนชิม ชอป สินค้าเกษตรคุณภาพดี
สำหรับนิทรรศการเนื่องในคล้ายวันสถาปนา 1 เมษายน นี้ ผลงานสำคัญที่จะจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการนำเสนอการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ผลการดำเนินโครงการ1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ผลงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-tech and Innovation Center หรือ AIC) ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และ ภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเกษตรแปรรูป และการตลาดและการยกระดับมาตรฐานพืชสมุนไพรสู่ความยั่งยืน นิทรรศการเกี่ยวกับทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น การผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนากุ้งสู่ความยั่งยืน BCG Modelกับการพัฒนากัญชา กัญชง และกระท่อม การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดของสินค้าโคเนื้อ บ้านแสนแก้ว จ.ศรีสะเกษ และการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาลวดลายผ้าไหมไทยสู่ความยั่งยืน นำเสนอการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้เหมาะสม และนิทรรศการก้าวต่อไปของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในฝัน และสมาชิกสหกรณ์รุ่นใหม่ สร้างเกษตรไทยเข้มแข็ง เป็นต้น
นอกจากกิจกรรมนิทรรศการผลงานสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกิจกรรม “เหลียวหลัง แลหน้า 130 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์”แล้ว ภายในงานยังมีการออกบูธแสดง และจำหน่ายสินค้าการเกษตรโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำผลผลิตทางการเกษตร ที่โดดเด่นของเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์จากจังหวัดต่าง ๆ มาให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานได้เลือกชิม เลือกซื้อภายในงาน ทั้งผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตรต่างๆ อาทิ ผัก ผลไม้ มะม่วงน้ำปลาหวาน ยำมะม่วง ข้าวแต๋น มะพร้าวน้ำหอม กรอบเค็ม แหนมปลาแรด ชุดน้ำพริก น้ำพริกสวรรค์ปูม้า เชียงปลา ปลาดุกเส้นหวาน ปลานวลจันทร์ต้มเค็มปลาดุกสวรรค์ ไส้อั่วปลานิลปลาส้ม ทอดมันปลากรายกล้วยไม้เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปลาสวยงามหลากหลายชนิด เช่น ปลากัด ปลาสอดสี แจกจ่ายให้กับผู้ซื้อสินค้าประมงแปรรูปครบตามราคา ที่กำหนดด้วย สำหรับประชาชน สามารถเข้าร่วมรับชมผ่านช่องทาง Facebook Live ที่เพจ MOAC Thailand ในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2565 ได้ตั้งแต่เวลา 06.30 – 15.00 น.
ตลอดระยะเวลา 130 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนภาคการเกษตร ของประเทศ เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในทุกสาขาอาชีพการเกษตร เพื่อทำนุบำรุง ส่งเสริม พัฒนา และสร้างความเข็มแข็งต่อภาคเกษตรกรรม โดยมุ่งหมายความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร ส่งเสริมเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และมุ่งเน้นการพัฒนาองคาพยพของขององค์กร เพื่อกำหนดนโยบาย โครงการ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ยุค Next Normal ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพาความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินและผืนน้ำของประเทศไทย อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนสืบไป.