นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (2 เมษายน 2562) ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อจัดประชุมเกี่ยวกับมาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มอัตราการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศจากเดิม วันละ 1,000 ตัน เป็นวันละ 1,500 ตัน และรับมอบน้ำมันปาล์มดิบตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือทั้งหมดจัดเก็บที่คลังรับฝากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดฉะเชิงเทราโดยเร็ว โดย กนป. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562
เพื่อดำเนินการให้เป็นตามมติ กนป. ดังกล่าว กรมการค้าภายในจึงได้ร่วมกับ กฟผ. จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินการมาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้แก่คู่สัญญาของ กฟผ. ทั้งนี้ กฟผ. ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบกับผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกครบตามเป้าหมาย160,000 ตัน และถึงปัจจุบัน ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบที่ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว จำนวนประมาณ 60,000 ตัน จากมติ กนป. ดังกล่าว คู่สัญญาของ กฟผ. ที่เดิม กฟผ. กำหนดให้ส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบในช่วงเดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม 2562 ซึ่งคงเหลือประมาณ 100,000 ตัน จะต้องส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบที่เหลือทั้งหมดภายในวันที่ 20 เมษายน 2562 ณ คลังรับฝากที่ กฟผ. จัดหาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและฉะเชิงเทรา เพื่อดึงผลผลิตออกจากระบบไม่ให้หมุนเวียนในตลาด โดย กฟผ. ได้ปรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าน้ำมันปาล์มดิบให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้คู่สัญญาได้ดำเนินการรับซื้อผลผลิตผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้เร็วขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยรับซื้อผลปาล์มในปริมาณที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ขายให้แก่ กฟผ. นอกจากมาตรการดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดยมอบหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับบริษัทผู้ค้าน้ำมันกระจายการจำหน่าย บี 20 ลงสู่ระดับพื้นที่ให้มากขึ้นในทุกวิถีทาง รวมทั้ง เชื่อมโยงการนำน้ำมัน บี 100 ให้เกษตรกรนำไปใช้กับเครื่องมือทางการเกษตร ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันสำคัญของประเทศ ภายใต้การบริหารของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ผลักดันการพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจนเป็น “สุราษฎร์ธานีโมเดล” ที่เป็นรูปแบบให้แก่จังหวัดแหล่งผลิตปาล์มอื่น จากการลงพื้นที่พบว่า ในส่วนของบี 20 จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสถานีบริการ ที่จำหน่าย บี 20 กระจายอยู่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่กรมการค้าภายใน และ กฟผ. ได้เร่งรัดดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง บัดนี้ ใกล้บรรลุเป้าหมายในการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินครบ 160,000 ตัน แล้ว และราคาผลปาล์มน้ำมันก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ การเร่งรัดผลักดันการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มพื้นที่รองรับผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ออกสู่ตลาดต่อเนื่องได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์ปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มคลี่คลายลงได้ในไม่ช้า
……………………………………………………