อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ จับมือ สสส.ปลุกพลังผู้ก่อการดี 8 ชุมชน สร้างพื้นที่สุขภาวะให้เยาวชน

อีกก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement เปิดห้องปฎิบัติการทางสังคม ปลุกพลังผู้ก่อการดี  8 ชุมชน  ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ เยาวชน ผู้นำชุมชน หลากหลายวัย จากหลายพื้นที่ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้โครงการ “พัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เป้าหมายเพื่อ สร้างพื้นที่สุขภาวะ    ในชุมชนให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนได้มาเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่ และเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆนำไปต่อยอดขยายผลให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้  ที่ โรงแรมรอยัลเจมส์ กอล์ฟ รีสอร์ท นครปฐม

 ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ  Imagine Thailand Movement  กล่าวว่า เป้าหมายของ อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ เราอยากจะเห็นประเทศไทย และอยากเห็นคนไทยมีสังคมสุขภาวะ “Well being society” โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือ จาก 8 ชุมชน ที่ให้ความสนใจอยากทำให้เกิดพื้นที่สุขภาวะขึ้นในชุมชน ด้วยตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม โซเซียลมีเดีย ที่ทำให้เยาวชนเข้าใกล้ปัจจัยเสี่ยงได้ง่ายขึ้น ขณะที่สัมพันธภาพของคนในสังคม คนต่างวัยก็ห่างกันไปทุกที ทำอย่างไรที่เด็กจะได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่  ทำอย่างไรที่ผู้ใหญ่จะมีพื้นที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเด็กๆ ให้พวกเขาได้มีภูมิคุ้มกันทางสังคม มีความอบอุ่น และรู้สึกมีค่า พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ดร.อุดม เล่าให้ฟังถึงที่มาโครงการนี้ว่า เป็นการต่อยอดมาจากการขับเคลื่อนความร่วมมือลดปัจจัยเสี่ยงให้เยาวชน และ โครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ทำให้ได้เครือข่ายที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และมีความมุ่งหวังที่อยากจะพัฒนาพื้นที่ตนเองให้เป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับ คนในชุมชน โดยในปีนี้มีพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 ชุมชนเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่

1.ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม

2.ชุมชนวัดโพธิ์เรียง กรุงเทพมหานคร

3. ศูนย์การเรียนรู้เสริมทรัพย์ ต.เจดีย์ชัย จ.น่าน

4.ศูนย์การเรียนรู้ลำตัดหวังเต๊ะ-คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ จ.นครปฐม

5.ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว จ.กระบี่

6.สวนศิลป์บ้านดิน ชุมชนเจ็ดเสมียน  จ.ราชบุรี

7.โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์

8.ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว จ.นครปฐม

“กิจกรรมครั้งนี้เรานำกระบวนการที่เรียกว่า ห้องปฎิบัติการทางสังคม Social Lab ชวนให้ผู้นำในแต่ละพื้นที่ ได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และในขณะเดียวกันมองเห็นโอกาสต่างๆ ที่มีในพื้นที่ตนเอง และดึงศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ เราใช้แนวคิดเรื่องการเริ่มจากสิ่งที่มี ให้ทุกคนมองย้อนกลับเข้าไป ทบทวน สะท้อนคิด มองให้เห็นจุดแข็ง ให้เห็นเรื่องราวดีๆ ที่มีอยู่ และเป็นความภูมิใจของชุมชน เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรม กีฬา วิถีการทำเกษตร   ประวัติศาสตร์ จุดท่องเที่ยว ความรู้ ปราชญ์ เครือข่าย รวมถึงคนที่มีจิตอาสาที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ก่อการดี  แม้กระทั่งเพื่อนร่วมทาง และนำสิ่งนั้นขึ้นมาพัฒนาขับเคลื่อนไปด้วยกัน”

หนึ่งกิจกรรมที่ผู้ก่อการดี ในแต่ละพื้นที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันคือการสร้าง Road Map ที่ทุกพื้นที่ได้คิด และมองไปข้างหน้าว่า อะไรคือสิ่งที่เขาอยากเห็น อยากจะให้เป็น โดยแต่ละชุมชนมีส่วนร่วมให้ข้อคิด ให้คำแนะนำ               หนุนเสริม เกิดเป็นความร่วมมือ และช่วยเติมเต็มเส้นทางการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ที่หลายแห่งประกาศว่า ออกจากห้องประชุม ก็จะไปขับเคลื่อนทันที

อาทิ “คุณครูเล็ก” (ภัทราวดี มีชูธน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ละครเวทีและภาพยนตร์) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน กล่าวว่า กำลังขับเคลื่อนให้โรงเรียนให้เป็น Education Hub  ที่เปิดให้คนทั้งที่อยู่ในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน  ทุกเพศ ทุกวัย ได้มาเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะ มีเป้าหมาย มีทักษะชีวิต  โดยจาก จุดแข็งในเรื่องศิลปะศาสตร์ และการที่โรงเรียนมีพื้นที่เป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเยาวชน และจากเครือข่าย ที่เพิ่มขึ้นก็จะชวนคนเก่งๆ ผู้ใหญ่ในหลากหลายสาขามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่  โดยกิจกรรมแรกที่จะทำทันทีคือ “Walk Rally” ชวนให้เด็กนักเรียนทั้งมัธยมและประถม ได้รู้จักพื้นที่ของโรงเรียน ได้เห็นทรัพยากร รู้จักความเป็นมา เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกัน

ดิฉันเชี่ยวชาญเรื่องศิลปะ และดิฉันจะเชื่อว่าศิลปศาสตร์ เป็นสิ่งเดียวที่จะเยียวยาจิตใจของมนุษย์  ที่แข็งกระด้างและทำให้คนคิดไม่เป็นได้คิดเป็น เพราะศิลปศาสตร์มันสอนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking  ดีใจที่ตอนนี้มีหลายคนมาช่วยกันสร้างดอกไม้เล็กๆ ให้เติบโต แทนที่เราจะบ่นๆ  หรือรอว่าเรามีทุนรอนอะไรใหญ่โต ค่อยทำ ซึ่งเราสามารถเริ่มทำจากสิ่งที่มี จากคนที่ศรัทธาเราเมื่อเขาเห็นเราทำ ก็ ค่อยๆบอกต่อ ชวนกันมาร่วมทำมากขึ้น” คุณครูเล็ก กล่าว

“พี่นาย” (มานพ มีจำรัส) ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง จากสวนศิลป์บ้านดิน ชุมชนเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี  บอกว่า กิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมองตัวเอง คิดถึงคนรอบข้างจะมีความสุขได้อย่างไร  ทำให้เรารู้ว่า ชุมชนเจ็ดเสมียนมีของดีมากมาย โดยสิ่งที่ทำได้ทันทีตาม Road Map คือจะชวนคนในพื้นที่มาพัฒนาลานกิจกรรม 119 ปี เจ็ดเสมียน ให้กลับมาเป็นพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง  โดยจะมีการชวนเพื่อนศิลปิน ปราชญ์ เยาวชนคนรุ่นใหม่ มาเรียนรู้ร่วมกัน

“การขับเคลื่อนในรอบนี้ เราได้เห็นศักยภาพของทุกพื้นที่ ซึ่งมีคนอาสาลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นเจ้าภาพ ที่จะเชื่อมร้อยกับภาคส่วนต่างๆ   เพื่อทำให้เกิดพื้นที่สุขภาวะขึ้นในชุมชนอย่างแท้จริง”  ดร.อุดม กล่าวทิ้งท้าย

ภายใต้การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ  Imagine Thailand Movement  หากพื้นที่อื่นๆ มีความพร้อมอยากพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้นในชุมชน เราก็ยินดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ไปให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน สามารถติดตามความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ได้ที่ Facebook: Imagine Thailand Movement https://bit.ly/3up1doW