กรมชลประทาน คุมเข้มคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก หวั่นความเค็มกระทบพื้นที่การเกษตร สั่งเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ พร้อมรับมือแอลนินโญ่ที่จะทำให้ฤดูแล้งยาวนาน มั่นใจเขตชลประทานพ้นวิกฤตภัยแล้ง เตรียมพร้อมเครื่องมือ-เครื่องจักร ช่วยพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งนอกจากกรมชลประทานจะให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว มาตรการควบคุมความเค็มในแม่น้ำสายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยได้บริหารจัดการน้ำให้สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำตามคลองต่าง ๆ ไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่การเกษตร และทำการตรวจวัดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวังและจุดควบคุมเป็นรายชั่วโมงจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง
ส่วนปัญหาคุณภาพน้ำที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแม่น้ำ 5 สาย(เบญจสุทธิคงคา) ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาคุณภาพน้ำเสียแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์น้ำฤดูแล้ง จนถึงขณะนี้กรมชลประทานยืนยันว่าในพื้นที่เขตชลประทาน จะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน แม้จะเกิดปรากฏการณ์แอลนินโญ่ที่จะส่งผลกระทบให้ฤดูแล้งยาวนานกว่าปกติก็ตาม เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ได้ถูกจัดสรรอย่างเพียงพอไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 และยังเพียงพอสำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงต้น ฤดูฝนอีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาปรับรอบที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคต
ในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากการวิเคราะห์ของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ราชบุรี และเลย และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรรวม 18 จังหวัด เช่น อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมและแนวทางช่วยเหลือ โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแต่ละภูมิภาคทั้งในและนอกเขตชลประทานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือ คอยเฝ้าระวังเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคกลางเฝ้าระวังด้านรักษาระบบนิเวศ ป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ ภาคตะวันออก เฝ้าระวังเรื่องน้ำที่ใช้รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
“กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด รถบรรทุกน้ำ และอื่นๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,850 หน่วย ลงไปกระจายอยู่ที่ศูนย์เครื่องจักรกลทั่วประเทศทั้ง 7 จังหวัดแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี และสงขลา พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพื้นที่ประสบภัย เพื่อสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำพร้อมกับเน้นย้ำโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้บูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนแก้ไขภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ไว้ด้วย” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในที่สุด
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1 เมษายน 2562