สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จัดกิจกรรมวันโรคลมชักโลก

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี กำหนดให้เป็นวันโรคลมชักโลก  (Purple Day) ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักผ่านรายการ NIT Talk ทาง Facebook Live สถาบันประสาทวิทยา เน้นย้ำว่าไม่ใช่ผีเข้า และให้การปฐมพยาบาลได้อย่างเหมาะสม   

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่พบมากเป็นอับต้นๆ และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมอง มีผลให้ส่งกระแสไฟฟ้าผิดปกติ แล้วแสดงออกเป็นอาการชัก ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวในหลายมิติ ทั้งปัญหาสุขภาพในฐานะของโรคและความเจ็บป่วย ยากลำบากต่อการเข้ารับศึกษา การประกอบอาชีพ การวางแผนครอบครัว ตลอดจนคุณภาพชีวิต ซึ่งกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาการแสดงของโรคลมชักมีความหลากหลาย เกิดขึ้นและหายเองในระยะเวลาอันสั้น บางครั้งสังเกตได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัว หรือถูกมองว่าป่วยด้วยโรคทางจิตเวช หรือมองเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ผีเข้า เป็นเหตุให้ไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาหายได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากอาการชัก ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยากันชัก ปัจจุบันก็ยังสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ซึ่งสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักแบบครบวงจร โดยรับส่งต่อผู้ป่วยจากทั่วประเทศ

นายแพทย์ธนินทร์  เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบัน แพทย์สามารถตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคลมชักจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้ข้อมูลการบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากสมาร์ทโฟนของผู้ป่วยและญาติ จากนั้นพิจารณาส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และภาพถ่ายทางรังสีวิทยา (MRI) เพื่อการวินิจฉัยชนิดของโรคลมชักและระดับความรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่การให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ในส่วนของภาคประชาชน ที่มีโอกาสจะพบเห็นผู้ป่วยโรคลมชักมีอาการในที่ชุมชน ควรสามารถให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

โดย “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด เพราะอาการชักสามารถหยุดได้เอง” เพียงแค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย ระวังอันตรายจากสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องหาวัสดุใส่ในปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการกัดลิ้นขณะชักเกิดขึ้นได้น้อย และไม่พบว่าเป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่หากชักนาน 5 นาทีขึ้นไป หรือได้รับบาดเจ็บขณะชัก ควรรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือที่เหมาะสม

“วันโรคลมชักโลก”    หนึ่งวันสำคัญที่ไม่อยากให้ลืม โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้จัดกิจกรรมวันโรคลมชักขึ้นทุกปี และในโอกาสที่ปีนี้ ครบการก่อนตั้ง 80ปี กรมการแพทย์ ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต สถาบันประสาทวิทยา จึงได้จัดกิจกรรม “วันโรคลมชัก” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชัก ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ผ่านรายการ NIT Talk ทาง Facebook Live สถาบันประสาทวิทยา อาทิเช่น โรคลมชักรักษาได้ การประเมินผ่าตัดลมชัก การปฐมพยาบาล ความรู้เรื่องยากันชัก และเวทีสัมมนา 360 องศา ประสบการณ์ชีวิตผู้ป่วยโรคลมชัก ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป