กรมอนามัย เผย ผลอนามัยโพล ชี้ คนไทยกังวลโควิด-19 ระบาดช่วงสงกรานต์ ย้ำหลัก ‘UP – VUCA’ สร้างเกราะป้องกัน

วันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และนายสมชาย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย แถลงข่าว “ต้อนรับสงกรานต์วิถีใหม่ ร่วมมือใส่ใจป้องกันโควิด รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม”

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจอนามัยโพลต่อประเด็น ความกังวลและการป้องกันตนเองในช่วงวันสงกรานต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีความกังวลต่อสถานการณ์ การระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 77 โดยมีความกังวลว่าการรวมกลุ่มในสถานที่ต่าง ๆ มีโอกาสติดเชื้อ ร้อยละ 58 และยังกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสูงอยู่ ร้อยละ 53 รวมทั้งอาจมีการติดเชื้อที่บ้านหรือในครอบครัว เนื่องจากมีการ สังสรรค์กัน ร้อยละ 47

ในขณะที่ยังมีประชาชนอีกกลุ่มไม่มีความกังวลถึงการระบาดของโควิดในช่วงนี้ ร้อยละ 23 โดยมั่นใจว่าทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้ดี ร้อยละ 62 ตนเองไม่ได้ไปในสถานที่เสี่ยง ร้อยละ 53 และอยากใช้ชีวิต ได้ตามปกติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 47 สำหรับสถานที่ที่ประชาชนยังกังวลต่อการแพร่ระบาด ในช่วงสงกรานต์นี้มากกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่า การรวมกลุ่มในสถานที่ต่าง ๆ เป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งร้านอาหารที่เปิดลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่จัดกิจกรรมอีเว้นท์งานสงกรานต์ ขนส่งสาธารณะและห้องน้ำสาธารณะในปั๊มน้ำมัน

โดยสถานที่เหล่านี้มักเป็นสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมาก และบางสถานที่อาจมีมาตรการเว้นระยะห่างที่ปฏิบัติได้ยาก มีระบบระบายอากาศที่ไม่ดี ไม่ใส่หน้ากากในห้องปรับอากาศ หรือมีการรวมกลุ่มกันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ง่าย รวมทั้ง ในส่วนของแผนการทำกิจกรรมในช่วงสงกรานต์ พบว่า ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งจะอยู่ที่บ้าน ไม่มีการนัดรวมกลุ่มกัน ในขณะที่ 1 ใน 3 ยังคงต้องการไปทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระที่วัด รองลงมาคือ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่เคารพ รวมทั้งมีแผนการสังสรรค์ กินข้าวกับครอบครัว เพื่อน ที่บ้าน ตามลำดับ

​“ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ในช่วงวันสงกรานต์ พบว่า ประชาชน มีความเห็นว่าพฤติกรรมล้างมือเป็นประจำ สวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง เป็นมาตรการที่สำคัญเมื่อจำเป็นต้องร่วมกิจกรรมกับผู้คน มากกว่าร้อยละ 90 รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเข้าร่วมกิจกรรม การประเมิน ความเสี่ยงตนเองด้วยไทยเซฟไทย เป็นต้น ซึ่งจากผลสำรวจนี้ ถือเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการส่วนบุคคล VUCA ตามหลักการ UP (Universal Prevention) ดังนั้น การปฏิบัติตัวบนความไม่ประมาท และป้องกันตนเอง อย่างเคร่งครัด จะเป็นเกราะป้องกัน ขณะเดียวกัน การจัดงานหรือให้บริการในช่วงสงกรานต์ อาทิ สถานประกอบกิจการ หรือการจัดกิจกรรมที่ปลอดภัย ควรมีการประเมินตนเองและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดีในช่วงสงกรานต์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

​ทางด้าน นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในการสืบสานสงกรานต์วิถีใหม่ ภายใต้มาตรการของศบค.ทั้งส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง จังหวัดต่าง ๆ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ

1) ประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาให้อยู่ภายใต้มาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด การร่วมทำบุญตักบาตร การฟังธรรมเทศนา รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามศาสนาที่ตนเองนับถือ ควรเน้นเรื่องการเว้นระยะห่าง การจัดกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการรับประทานอาหาร เช่น ทำบุญถวายภัตตาหาร ควรจัดเป็นสำรับเฉพาะบุคคล งดการจัดสำรับรวมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ต้องมีการปรับเปลี่ยนภายใต้วิถีใหม่ และการรดน้ำ สรงน้ำพระ ให้เตรียมภาชนะส่วนตัวไปและหากสัมผัสสิ่งของร่วมกัน ให้รีบล้างมือหรือฉีดพ่นแอลกอฮอล์

2) กิจกรรมในครอบครัว ควรรักษาระยะห่างกับผู้สูงอายุ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวโดยมีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

3) การร่วมงานเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ผู้จัดงานหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องได้รับการอนุญาตจากศบค.จังหวัดในพื้นที่นั้น ๆ และผู้เข้าร่วมงาน ควรต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โรคโควิด-19 ที่ศบค.กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือในการรักษาประเพณีสงกรานต์ที่ดีงามต่อไป โดยเฉพาะการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย

​ทางด้าน นายสมชาย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า การเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีประเพณีไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใดๆ ทั้งขันตักน้ำ ใช้ปืนฉีดน้ำ ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการเล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้ แต่ขอให้เล่นในพื้นที่จัดงานที่มีการกำกับติดตามตลอดการจัดงาน ยกเว้นกรณีการเล่นน้ำที่กฎหมายระบุว่าเป็นความผิด เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูง สาดน้ำคนอื่นโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ การทำข้าวของผู้อื่นเสียหายจากการโดนสาดน้ำ การสาดน้ำสกปรกใส่ผู้อื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การกำหนดเงื่อนไขและขอบเขตในการเล่นน้ำในแต่ละพื้นที่หรือสถานที่จัดงาน ให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์การระบาด หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด ส่วนการเล่นน้ำในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้เล่นได้ เนื่องจากไม่มีการควบคุม จึงอาจทำให้ มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงขอรณรงค์ให้ทุกท่านเล่นน้ำในรูปแบบริน รด พรม อย่างสุภาพ โดยการเล่นน้ำอย่างปลอดภัยนั้น การสวมหน้ากากอนามัย สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม หรือขึ้นอยู่สถานการณ์ ของพื้นที่และกิจกรรมที่ทำ ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากผ้า และเมื่อสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้วเปียกชื้น ควรเปลี่ยนหน้ากากบ่อย ๆ หรืออาจเลือกใช้ Face shield ร่วมด้วยได้

***

กรมอนามัย/ 25 มีนาคม 2565