สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสแรกของปี 2562

ภาพรวม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.24 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 2562 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และราคาพลังงานที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.58

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด        ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงในเดือนนี้ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าว และสุกร ที่ปรับตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา       ยังส่งผลต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาพลังงานในเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ดังกล่าว สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยดัชนีราคาผู้ผลิต ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เช่นเดียวกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับความเชื่อมั่น (สูงกว่า 50) และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ ทั้งการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ด้านการใช้จ่ายในประเทศ) และการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รวมไตรมาสแรกของปี 2562 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.74 ชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 0.80 ในไตรมาส ก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญของการขยายตัวของเงินเฟ้อในไตรมาสนี้ มาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด (ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ไก่ ผักสด) รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและพลังงาน ในขณะที่กลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยทอนของไตรมาสนี้ โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 0.79 ตามการลดลงของราคาพลังงานโลก เมื่อหักอาหารสดและพลังงานแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.62

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนมีนาคม 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.24 (YoY)            สูงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.73  ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มอาหารสด สูงขึ้นร้อยละ 3.75 ตามการสูงขึ้นของผักสด ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศ  ที่ร้อนจัด ทำให้พืชผักเสียหายปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย ส่วนสินค้ากลุ่มพลังงานกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยสูงขึ้นร้อยละ 2.07 ตามราคาพลังงานโลก เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว    ร้อยละ 0.58 (YoY) โดยมีการเคลื่อนไหวในระดับสินค้าดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.38 โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้นร้อยละ 9.54 (กะหล่ำปลี แตงกวา พริกสด) ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.58 (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.70 (เนื้อสุกร ปลาทู ปลานิล) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.81 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมผง) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.81 (น้ำพริกแกง ผงชูรส กะปิ) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.74 (กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน ร้อยละ 0.75 และ 1.85 ตามลำดับ (ข้าวราดแกง อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป) ขณะที่ผลไม้ ลดลงร้อยละ 0.52 (ส้มเขียวหวาน ลองกอง กล้วยน้ำว้า) หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.58 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 0.79 โดยน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น  ร้อยละ 2.27 ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.29 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (เครื่องแบบนักเรียนหญิง/ชาย) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.61 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.33  (ค่าแต่งผมชาย/สตรี) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ร้อยละ 0.30 ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.01

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.41 (MoM) และเมื่อพิจารณาไตรมาสแรกของปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.74  และชะลอจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2561    ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.80 สาเหตุมาจากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสดร้อยละ 2.50 (ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ไก่   ผักสด) ขณะที่กลุ่มพลังงาน ลดลงร้อยละ 0.79 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงร้อยละ 2.04 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานไตรมาสแรกของปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.62 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4/2561 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.71

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ 0.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มสูงขึ้นหลังจากติดลบ 3 เดือน ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ที่สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเป็นสำคัญ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ตามการสูงขึ้นของกลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ทุเรียน) จากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสัตว์มีชีวิต และผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและเม็ดพลาสติก          ความต้องการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ กลุ่มเคมีภัณฑ์ (อนินทรีย์) เคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่นและเหล็กเส้น) จากการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากประเทศจีนประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (MoM) และเมื่อพิจารณาไตรมาสแรกของปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.4 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนที่ลดลงต่อเนื่อง 2 เดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นคือ สินค้าในหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 11.1 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู) เนื่องจากไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 (กระเบื้องบุผนัง-ปูพื้น กระเบื้องยาง กระเบื้องแกรนิต) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (คอนกรีตบล็อกปูพื้น คอนกรีตผสมเสร็จ) ตามการสูงขึ้นของราคาปูนซีเมนต์ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (ปูนซีเมนต์) ความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (สีรองพื้นปูน ซิลิโคน) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (ทรายถมที่ กระจกใส อลูมิเนียม ยางมะตอย) ขณะที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.8 (เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ท่อแสตนเลส เหล็กแผ่น) ความต้องการลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) และเมื่อพิจารณา    ไตรมาสแรกของปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.1 (AoA)

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2562

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้มีปัจจัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาอาหารสด ทำให้ราคาในหมวดอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี และราคาพลังงานเป็นปัจจัยทอน ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญและสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ

โดยภาพรวม สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับเสถียรภาพที่มีความสอดคล้องกันทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยมีสัญญานด้านความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาพลังงานยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างผันผวนแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดว่า เงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะยังเคลื่อนไหวในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ร้อยละ 0.7 – 1.7

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

1 เมษายน 2562