‘พาณิชย์’ จับมือ ‘ปัญญาภิวัตน์’ ชวนผู้ประกอบการไทยเร่งใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดงานสัมมนา เรื่อง “ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดจีนด้วยเอฟทีเอเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน พร้อมแนะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน หลังไทยและจีนได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าชุดสุดท้ายระหว่างกันแล้ว ชี้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนทำการค้าสองฝ่ายขยายตัวร้อยละ 294 พร้อมชวนผู้ประกอบการ SMEs เข้าแข่งขันประกวดทำแผนธุรกิจและการขยายตลาดสู่จีนด้วยเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในโอกาสเปิดงานสัมมนา เรื่อง “ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดจีนด้วยเอฟทีเอ” กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  จัดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีนมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2548 ไทยและจีนได้ทยอยลดเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันมาเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ยกเลิกภาษีสินค้าเกษตรบางรายการเมื่อต้นปี 2549 จนล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าชุดสุดท้ายระหว่างกันเหลือร้อยละ 0-5 แล้ว เช่น สับปะรดแปรรูป โพลิเอสเตอร์ แป้งข้าวเจ้า ปลายข้าว เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีมูลค่า 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 294.3 จากปี 2548 ที่เอฟทีเอเริ่มใช้บังคับ และขยายตัวร้อยละ 8.7 จากปี 2560 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปจีน 30,175.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากจีน 49,961ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน กล่าวเสริมว่า จากสถิติข้างต้น แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ในปี 2561 จะเกิดวิกฤติทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ไทยยังคงขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการวางแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางการค้าและรักษาความสามารถการแข่งขันของไทยในจีนผ่านการขยายการส่งออกในสินค้าที่จีนมีความต้องการเพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป การเจาะตลาดเข้าสู่เมืองใหม่ๆ ของจีน โดยเฉพาะมณฑลทางฝั่งตะวันตกของจีน การขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซในร้านออนไลน์ที่มีชื่อของจีน รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีเอฟทีเออาเซียน-จีน ที่ทำให้ไทยและจีนต้องลดภาษีศุลกากรสินค้าชุดสุดท้ายลง เหลือร้อยละ 0-5 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปจีนได้เพิ่มขึ้น เป็นมูลค่ากว่า 1,907.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากปี 2560 โดยสินค้าที่ได้ประโยชน์ เช่น กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ ปลายข้าวกระดาษพิมพ์ แผ่นชิ้นไม้อัด เคมีภัณฑ์ แป้งข้าวเจ้า เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน เป็นมูลค่า 6,251.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 จากปี 2560 เช่น แผงไฟ เครื่องอัดชนิดที่ใช้ในเครื่องทำความเย็น หม้อแปลงไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และทองแดง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในปี 2561 ทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีน เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปจีนโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 17,633.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 58.4 ของมูลค่าการส่งออกไปจีน โดยสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน มันสำปะหลัง พารา-ไซลีน และโพลิเมอร์ของเอทิลีน เป็นต้น ขณะที่เป็นการนำเข้าจากจีนโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 13,383.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.8 ของมูลค่าการนำเข้าจากจีน โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้น เช่น แผ่นเหล็กชุบ/เคลือบ แผ่นเหล็กรีดเจือ แผ่นอะลูมิเนียม พืชผักแห้ง (เห็ด กระเทียม) และโคมไฟ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวต่อว่า งานสัมมนาฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ DTN Business Plan Award 2019 ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และชี้โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปจีนโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเดือนเมษายนนี้ กรมฯ จะจัดกิจกรรมคัดเลือกผู้ประกอบการ SME สาขาเกษตรและเกษตรแปรรูปที่สนใจสมัครเข้าอบรมบูธแคมป์ “เทคนิคการรุกตลาดจีนให้รวยด้วยเอฟทีเอ” จำนวน 3 วัน ณ จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องการเขียนแผนธุรกิจและการขยายตลาดสู่จีนด้วยเอฟทีเอ หลังจากนั้นจะมีการประกวดนำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 ทีม เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมงาน The 10th China (Shanghai) International Catering Food & Beverage Exhibition 2019 ที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2562 เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จริง

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสาขาเกษตรและเกษตรแปรรูปที่สนใจสมัครเข้ารับคัดเลือกเพื่อร่วมบูธแคมป์ดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ FB : DTN Business Plan Award 2019 ซึ่งผู้สมัครสามารถส่งใบสมัครได้ 3 ช่องทาง ดังนี้ (1) ผ่าน FB: DTN Business Plan Award 2019 (2) Email: dtn.bp2019@gmail.com และ (3) ไปรษณีย์ส่งถึง ศูนย์อาเซียน – จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 85/1 หมู่ 2 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โดยจะต้องยื่นใบสมัครภายในวันที่ 10 เมษายนศกนี้

สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจข้อมูลเอฟทีเอ และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของจีน อาทิ สถิติการค้า และอัตราภาษีนำเข้า-ส่งออก กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนของประเทศจีน สามารถสืบค้นข้อมูลได้ผ่านทาง http://www.dtn.go.th/ และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือสอบถามได้ที่ FTA Center ชั้น 3
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center หมายเลข 0 2507 7555 และทาง e-mail : ftacenter@dtn.go.th

———————————————

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์