กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ พัฒนาระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่าน “หมอพร้อม” ทั้งในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกิดการใช้ในสถานประกอบการ เพิ่มความสะดวกการสมัครงาน ลาป่วย และเบิกประกัน ระบุได้มาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ใช้ License สร้างลายเซ็นดิจิทัลให้โรงพยาบาล จ่อขยายต่อทั้งคลินิกเวชกรรม ทันตกรรม และเทคนิคการแพทย์
วันที่24 มีนาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการพัฒนาใบรับรองแพทย์ดิจิทัลบนหมอพร้อม ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนา “หมอพร้อม” ให้เป็น Digital Health Platform ของประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านสุขภาพแบบดิจิทัลแก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนใช้งานแพลตฟอร์มหมอพร้อมกว่า 28 ล้านคน ทั้ง LINE OA และแอปพลิเคชัน โดยบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 การตรวจหาเชื้อโควิด 19 การให้บริการเอกสารรับรองโควิดตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU DCC) เป็นต้น
โดยจะพัฒนาระบบเพื่อให้บริการด้านดิจิทัลสุขภาพเต็มรูปแบบในอนาคต เริ่มจากการพัฒนาระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานและบริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัย รัดกุม และมีมาตรฐานสูงสุด รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในการดำเนินการหรือประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น การใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลประกอบการสมัครงาน ลาป่วย และการเบิกจ่ายประกันสุขภาพต่างๆ เป็นต้น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการดำเนินกิจกรรมหรือทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลเป็นระบบที่สนับสนุนการทำงานของบุคลากร ช่วยลดการใช้กระดาษ ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย และลดเวลาในการเข้ารับบริการหรือการประกอบธุรกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหา License สำหรับสร้างลายเซ็นดิจิทัลให้กับโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด โดยไม่จำกัดจำนวนลายมือชื่อผู้ลงนาม และได้พัฒนาระบบรองรับการเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่านระบบของโรงพยาบาลโดยตรง อีกทั้งพัฒนา “หมอพร้อม Station” เป็นทางเลือกให้กับโรงพยาบาล รองรับการใช้งานสำหรับคลินิกต่างๆ ด้วย ปัจจุบันได้ทดสอบระบบและนำมาใช้งานจริงในโรงพยาบาลแล้ว 1,028 แห่ง ออกใบรับรองแพทย์ไปแล้วกว่า 125,000 ใบ นอกจากนี้ ยังได้จัดหา License เพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้งานสำหรับคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์
นพ.สุระกล่าวอีกว่า ประชาชนสามารถขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วม และใช้งานผ่านหมอพร้อมได้ทั้ง LINE OA และแอปพลิเคชัน รวมถึงสามารถดาวน์โหลดไฟล์ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลไปใช้งานได้ด้วย หน่วยงานที่ใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและความถูกต้องของลายมือชื่อได้ จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ดังนั้น ขอเชิญชวนโรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐ เอกชน และคลินิกต่างๆ เข้าร่วมใช้งานระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนทั่วประเทศ สามารถศึกษารายละเอียดของระบบเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์หมอพร้อม https://mohpromt.moph.go.th/mpc/mophcertificate/
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีบทบาทภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบริการสุขภาพ ซึ่งการพัฒนาใบรับรองแพทย์ดิจิทัลบน “หมอพร้อม” กรมฯ ได้ดำเนินการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสถานพยาบาลเอกชนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลผ่านระบบหมอพร้อมว่าได้ สถานพยาบาลที่อยู่โดยรอบแห่งนั้นได้รับอนุญาต และขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2.เพิ่มการแสดงข้อมูลของแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะประจำสถานพยาบาลแห่งนั้น มีความชำนาญในสาขาใด ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพหรือไม่ 3.เพิ่มฟังก์ชั่นการรับเรื่องร้องเรียนสถานพยาบาลเอกชนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” โดยตรง โดยกรณีที่ประชาชนเข้ารับบริการตรวจรักษาพยาบาลก็สามารถให้สถานพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเรื่องการพกพาเอกสาร ลดการสัมผัส และตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้หากเอกสารฉบับจริงสูญหายหรือชำรุด
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ร่วมให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล และกระบวนการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในการนำใบรับรองแพทย์ดิจิทัลนี้ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานที่ใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและลายมือชื่อได้ ทำให้ระบบมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล ช่วยป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและความเสียหายทางอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์
นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารที่มีความสำคัญในการดำเนินการต่างๆ ของผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ใช้ในการสมัครงาน ยื่นหลักฐานประกอบการลาป่วย ใช้เบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ดังนั้น การเพิ่มช่องทางใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่าน“หมอพร้อม” จะช่วยให้การดำเนินการต่างๆ ที่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ป้องกันการปลอมแปลงได้เป็นอย่างดี กระทรวงแรงงานจะช่วยผลักดันให้นำใบรับรองแพทย์ดิจิทัลมาใช้และเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่เน้นการบริหารจัดการและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการแรงงานให้เข้าสู่มาตรฐานสากล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของภาคเอกชน เราพร้อมผลักดันและส่งเสริมการนำใบรับรองแพทย์ดิจิทัลไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการทำงานและบริหารบุคคลในสถานประกอบการให้มีความทันสมัย ช่วยให้ตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ง่ายต่อการตรวจสอบ ลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มความสะดวกในการดำเนินงาน นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้สถานประกอบการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกดิจิทัล รองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
อีกทั้งภาครัฐสามารถพัฒนาไปสู่ Big Data ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณสุขเชิงรุกให้คนไทยมีสุขภาพดีมากขึ้น และภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตและออกแบบสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ช่วยพัฒนาระบบงานและบุคลากรให้มีความทันสมัย เพิ่มความพึงพอใจของผู้รับบริการ เสริมสร้างความเข้มแข็งภาคอุตสาหกรรมของไทย และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
***************************************** 24 มีนาคม 2565