ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จับมือ สช. และ สสดย. ผนึกพลังภาคีเครือข่ายในภูเก็ต ยกเป็นวาระจังหวัด ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชนฯ” ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เน้นย้ำการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ มอบหมายสมัชชาสุขภาพฯบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัด เดินหน้า จัดทำพิมพ์เขียว (blueprint) เรื่องเด็กกับสื่อ เร่งจัดตั้งกลไกระดับจังหวัด และรวบรวมข้อมูลเพื่อทำยุทธศาสตร์เรื่องเด็กกับสื่อ
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานการจัดงานเสวนาฯ “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต” กล่าวว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนัก และ“การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่” จะให้ได้ผลต้องสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัด โดยตนได้ขอให้สมัชชาสุขภาพจังหวัด เป็นแกนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดทำพิมพ์เขียว (blueprint) เรื่องเด็กกับสื่อ การจัดตั้งกลไกระดับจังหวัด และการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำยุทธศาสตร์เรื่องเด็กกับสื่อ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ และรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโต สมวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน แวดล้อมด้วยสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญที่เข้มแข็งของประเทศชาติในอนาคต”
ด้าน ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านเด็กกับสื่อ กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็ก เยาวชน และครอบครัว เผชิญปัจจัยเสี่ยงที่คุกคาม อย่างมาก ได้รับผลกระทบที่ทำให้มีพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญาที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เกิดกระทบต่อสังคมในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ อาชญากรรม และความมั่นคง ภัยออนไลน์กำลังคุกคามชีวิตของอนาคตของชาติ มีทั้งที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกหลอก/ล่อลวง เข้าสู่การเล่นพนันออนไลน์ ติดเกม ถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ
ปัญหาเด็กและเยาวชนถึง การสร้างความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านเด็กกับสื่อฯ ว่า “การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ได้สะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ต ได้ยกระดับความสำคัญของปัญหาการใช้สื่อของเด็กและเยาวชน ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน”
น.พ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวข้องหลายมติ โดยมติฯครั้งที่1 พ.ศ. 2551 ประเด็นผลกระทบจากสื่อต่อเด็กและเยาวชนและครอบครัว มติฯครั้งที่ 5 ประเด็นการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชม.กรณีเด็กไทยกับไอที มติฯครั้งที่ 7 ประเด็นการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็กเยาวชนและครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง และ มติฯครั้งที่ 11 ประเด็นความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก กระบวนการสมัชชาสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสานพลังขับเคลื่อนมติและนโยบายสาธารณะของจังหวัดได้เป็นอย่างดี เป็นพื้นที่กลางสร้างการรับรู้ร่วม และบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชน นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว เป็นประธาน รวมทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม อาทิ นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายอับดุลกอเด็ร โกบยาหยัง ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตด้วย
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า“เรื่องนี้สำคัญ ผมจะติดตามการขับเคลื่อนประเด็น เด็กกับสื่อ ในที่ประชุมกรมการจังหวัดทุกเดือนเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง”