เติมเต็มพื้นที่สร้างสุข “โรงพยาบาลสุขภาวะ”

หลายคนอาจคุ้นชินกับสภาพความแออัดในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ป่วย ญาติและบุคลากร จะดีกว่าหรือไม่ หากพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นสถานที่ที่ประชาชน หรือผู้รับบริการมาเยือนแล้วรู้สึกมีความสุข ความรื่นรมย์ ได้เห็นพื้นที่สีเขียว และความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นสถานบริการอันเป็นมิตร อบอุ่น ปลอดภัย เข้าถึงง่าย ช่วยรักษาสุขภาพกาย และดูแลสุขภาพใจไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการวางแผนผังอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมอย่างเป็นขั้นตอน มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการพัฒนาและส่งมอบผังแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้เกิด “ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาล”

“รู้สึกดีใจที่ สสส. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งการจะทำให้สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาวะได้ สิ่งหนึ่งคือการจัดการให้เกิดผังแม่บทที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ได้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง” เป็นความเห็นของ พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส.

 พญ.ขจีรัตน์ กล่าวว่า โครงการนี้เราได้เห็นสิ่งดี ๆ ของการเกิดสิ่งแวดล้อมในเชิงกายภาพที่เอื้อต่อสุขภาวะ ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานอย่างแท้จริง และเชื่อว่าหลังจากที่ผังแม่บทของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถเป็นต้นแบบโรงพยาบาลสุขภาวะได้จริง ก็จะเกิดการขยายออกไปในเชิงนโยบาย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป

ขณะที่ ผศ.ดร.สรนาถ สินอุไรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงผังแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ว่า ในปัจจุบันเราก็จะเห็นว่า ในแต่ละวันมีคนหมุนเวียนในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้มารับบริการและผู้มาให้บริการ ดังนั้น ผังแม่บทในเชิงกายภาพจะเป็นตัวกำหนดการใช้พื้นที่แต่ละส่วนในโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในโรงพยาบาลนั้น ๆ การวางผังแม่บทโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง เราจะใช้กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำผังแม่บท

ผศ.ดร.สรนาถ บอกว่า คนที่มาร่วมก็มาจากทุกภาคส่วนของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากร เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงผู้ป่วย ญาติ และผู้ที่มารับบริการอื่น ๆ ซึ่งเราได้เปิดพื้นที่ให้เสนอความต้องการว่าจริง ๆ แล้วพื้นที่ในโรงพยาบาลที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต หรือเอื้อต่อการเกิดสุขภาวะที่ดีในโรงพยาบาลควรจะเป็นอย่างไร จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์พื้นที่ของโรงพยาบาลว่า จะมีการจัดแบ่งพื้นที่อย่างไร เช่น โซนของผู้ป่วย โซนบ้านพัก โซนบริการต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดทิศทางการเข้าออกของผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ให้สะดวกต่อการทำงาน เป็นต้น และจากกระบวนการมีส่วนร่วมผังแม่บทจะถูกใช้เป็นเครื่องมือคล้ายกับเข็มทิศให้กับโรงพยาบาล รู้ว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด

“สิ่งที่จะมีประโยชน์ในอนาคตจากผังแม่บทคือ การวางแผนที่จะมีสิ่งก่อสร้างในอนาคต เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของโรงพยาบาล โดยจะมีการกำหนดพื้นที่เอาไว้ล่วงหน้าเลยว่า ตรงไหนจะก่อสร้างเป็นตึกอาคารอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร  ซึ่งโรงพยาบาลชุมชน นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลแล้ว เรายังสามารถจัดสรรพื้นที่  เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความเครียด เช่น ศาลานั่งเล่น สวนหย่อมที่ร่มรื่น เป็นต้น” ผศ.ดร.สรนาถ กล่าว

ผศ.ดร.สรนาถ ยังได้บอกถึงลักษณะสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลสุขภาวะ ว่า

1.ควรมีการวางผังที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น และรองรับการขยายตัวในอนาคต

2.ให้ความสำคัญกับความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และความปลอดภัย

3.เข้าถึงสะดวกสำหรับทุกคน

4.มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีสุนทรียภาพ ช่วยส่งเสริมกระบวนการบำบัดรักษา

5.มีการจัดการสัญจรที่สะดวก ให้เอื้อต่อการใช้งาน

6.คำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม และความยั่งยืนทางเศรษฐศาสตร์

 ด้าน นพ.กิตติโชติ ตั้งกิตติถาวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร เล่าให้ฟังว่า ผังแม่บททำให้สามารถมองทิศทางความเป็นไปได้ การขยายตัวของโรงพยาบาลในระยะ 10 ปีข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรามองว่าโรงพยาบาลคงจะขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 150 เตียง ที่จะมีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลักต่าง ๆ รับดูแลคนไข้ ประชาชน ในอำเภอตะพานหิน และอำเภอข้างเคียง ซึ่งจะต้องมีสถานที่ หรืออาคารสำหรับบริการต่าง ๆ เพื่อรองรองการขยายตัวด้วย

“การมีแผนผังแม่บทที่ชัดเจน สามารถช่วยวางรูปแบบการใช้งานของอาคารต่าง ๆ ในโรงพยาบาล รู้ว่าอาคารไหนควรจะต้องก่อสร้างในจุดไหน เพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยให้ได้มากที่สุด มีความสวยงาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องต่อเติมแก้ไขแบบ ไม่ต้องมาทุบรื้อใหม่  ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณ ตรงจุดนี้จะเป็นประโยชน์จากการมีผังแม่บทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นพ.กิตติโชติ กล่าว

นับได้ว่าผังแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ช่วยปรับโฉมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความตึงเครียดของบรรยากาศภายในโรงพยาบาล และผู้มาใช้บริการแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

สสส. หวังว่าผังแม่บทโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง นี้ จะทำหน้าที่ต้นแบบโรงพยาบาลสุขภาวะได้อย่างสมบูรณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดสร้างพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาล นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และชุมชนแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน