กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน หญิงตั้งครรภ์ที่มีฟันผุ มีโอกาสสูงที่จะถ่ายทอดเชื้อ จากแม่สู่ลูก อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาโรคเหงือกอักเสบ พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเหงือก และเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ได้ง่าย บางรายอาจพบการทำลายเนื้อเยื่อปริทันต์ที่รองรับฟัน พบร่องลึกปริทันต์ หรือเหงือกร่น หากดูแลอนามัยช่องปากได้ไม่ดีอาจส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์เกิดโรคฟันผุได้ ดังนั้น เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไปต่อตัวแม่และลูกที่จะเกิดมา หญิงตั้งครรภ์ ที่มารับบริการฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขควรได้รับการตรวจฟัน เพื่อทราบสภาวะช่องปากของตนเอง และรับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและลูก รวมทั้งการฝึกทักษะการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟันที่ถูกวิธี ซึ่งหากพบว่ามีปัญหาโรคในช่องปากก็ควรได้รับการรักษาตามความจำเป็น ในช่วงตั้งครรภ์ เดือนที่ 4 – 6 หรือได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากรายงานการศึกษาสภาวะสุขภาพช่องปากและพฤติกรรม ที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ฟันผุร้อยละ 50.5 แม่ที่มีฟันผุหลายซี่จะมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมาก มีโอกาสสูงที่จะถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคฟันผุ นอกจากนี้ มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า โรคปริทันต์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้ ดังนั้น การได้รับบริการขูดหินน้ำลาย และทำความสะอาดช่องปาก จะช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบ ส่วนการอุดฟันช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากหญิงตั้งครรภ์
“ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรดูแลฟันของตนเองเป็นพิเศษ เพราะหากมีปัญหาเหงือกอักเสบและฟันผุ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับเหงือกและฟันของลูกได้ เนื่องจากฟันน้ำนมของลูกเริ่มสร้าง ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น หากแม่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนจะส่งผลให้ลูก มีการสร้างหน่อฟันที่ผิดปกติ ลูกจะเกิดฟันผุง่าย หญิงตั้งครรภ์จึงควรแปรงฟันตามสูตร 2-2-2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที ไม่กินอาหาร และเครื่องดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน เพื่อลดโอกาสที่จะสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น เข้ารับการตรวจฟันและทำความสะอาดฟัน ฟรี ณ หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
***
กรมอนามัย / 21 มีนาคม 2565