วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 – 12.00 น. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อเปิดตัวแนะนำบริการใหม่ที่เหมาะสมกับยุคสมัย Social Distancing เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ “ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค” หรือ “OCPB Complaint” โดยมี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เปิดการสัมมนาดังกล่าวผ่านระบบ Video Conference
ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวปาฐกถาเปิดงานผ่านระบบ Video Conference โดยได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการพัฒนาระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค หรือ OCPB Complaint ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0และตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบราชการบริหารจัดการภาครัฐ โดยได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้กำกับดูแลนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
จึงได้มอบนโยบายให้ สคบ. ดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ การทำงานเชิงรุกในมิติต่าง ๆเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดจากการซื้อสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ และในประการสุดท้าย คือการพัฒนาระบบบริการให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและสมประโยชน์
สคบ. จึงได้มีการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค หรือ OCPB Complaint ขึ้น เพื่อยกระดับการบริการให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มด้วยการนำเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) และการเชื่อมโยงเรื่องร้องทุกข์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหาการร้องทุกข์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของ สคบ. ที่จะยกระดับการบริการให้มีการปกป้อง ติดตาม ตอบสนองการบริการแก่ประชาชนตามนโยบายในการบริการภาครัฐวิถีใหม่ ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย ลดการกรอกข้อมูล ลดเอกสาร ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการแก้ไขปัญหา การร้องทุกข์ ดังนั้น ระบบ OCPB Complaint หรือระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค จึงถือได้ว่าเป็นระบบที่มีประโยชน์ทั้งกับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้บริโภคและผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ
ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค หรือ OCPB Complaint เป็นบริการผ่านช่องทาง Websiteของ สคบ. โดยผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนสินค้าหรือบริการสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลการร้องเรียน ที่เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th หรือ Mobile Application “OCPB Connect” โดยกรอกละเอียดเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งจะได้รับเลขร้องทุกข์สำหรับติดตามในระบบแจ้งสถานะผ่านช่องทาง SMS และ E-mail เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและดำเนินการแจ้งสถานะผ่านระบบ ซึ่งเป็นการให้บริการผู้ร้องทุกข์ออนไลน์แบบครบวงจร ไม่ซับซ้อน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเอกสาร รองรับการแจ้งนัดหมายไกล่เกลี่ยการแจ้งเตือนผ่าน SMS ถึงความคืบหน้า การตรวจสอบสถานะเรื่องร้องทุกข์ผ่านเว็บไซต์ หรือ Mobile Application “OCPB Connect” และ สคบ. ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของผู้ร้องทุกข์ในการรับบริการจาก สคบ. ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คุณธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์) กล่าวรายงานถึงแนวคิดในการจัดทำโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และมีคุณภาพ ครอบคลุมการให้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ผู้บริโภค และการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยความรวดเร็วภายในเวลาที่เหมาะสม และช่วงสุดท้ายของการสัมมนา เป็นการเสวนาในหัวข้อ “ปัญหาผู้บริโภคในยุคดิจิทัล” โดยผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่าน ได้แก่ นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายปวเรศ รัฐขจร ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และนายเอกอนันต์ ทองแท้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และมีการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ส่งคำถามเข้ามาในระบบออนไลน์ ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค หรือ OCPB Complaint โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ใช้งานง่าย เพียงแค่ปลายนิ้ว
โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th หรือดาวน์โหลด Mobile Application “OCPB Connect” ซึ่งจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย มีการแจ้งความคืบหน้า ทำให้ไม่พลาดทุกการติดตาม
“สคบ. ปกป้อง หมดห่วง สบายใจได้ เรื่องร้องทุกข์ให้เราช่วยคุณ”