ในวันที่ 30 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ฝากถึงแรงงานทุกคน โดยเฉพาะแรงงานสตรี หรือสตรีทำงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ว่าแรงงานสตรีต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพราะแรงงานสตรีไม่ใช่มีเพียงแค่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเท่านั้น แต่ยังมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิด้วยอีกหนึ่งฉบับ
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ สตรีได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกบริบทของสังคม โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แรงงานสตรีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเกือบจะทุกสาขาอาชีพ แต่ด้วยความแตกต่างกันทางสรีระระหว่างแรงงานเพศชายกับแรงงานเพศหญิง เกี่ยวกับความแข็งแรงและการมีครรภ์ของเพศหญิง รัฐบาลจึงออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิงเป็นกรณีพิเศษขึ้น เพื่อมิให้ทำงานหนักเกินกำลังและมีความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย แต่ในความเป็นจริง จากที่เห็นข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ ก็ยังเห็นแรงงานสตรีได้รับความไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลิกจ้างเพราะตั้งครรภ์ ถูกกีดกันไม่ให้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือการถูกจำกัดสิทธิจนไม่สามารถสมัครงานได้ เนื่องจากประกาศรับสมัครงานเฉพาะเพศชาย ซึ่งเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 หากเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) วินิจฉัยพบว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ก็จะได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศได้อีกด้วย
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า นอกจาก กฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 หากเกิดการกระทำใด ๆ หรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเพศที่เป็นการบังคับ ใช้อำนาจที่ไม่พึงปรารถนาด้วยวาจา ข้อความ ท่าทาง แสดงด้วยเสียง รูปภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งของลามกอนาจารเกี่ยวกับเพศ หรือกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ได้รับความอับอาย หรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม และให้หมายรวมถึงการติดตามรังควานหรือการกระทำการใดที่ก่อให้เกิดบรรยากาศไม่ปลอดภัยทางเพศ โดยเฉพาะจากการสร้างเงื่อนไข ซึ่งมีผลต่อ การจ้างงาน สรรหาหรือการแต่งตั้ง หรือผลกระทบอื่นใดต่อผู้เสียหายทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ก็สามารถร้องเรียนไปได้ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ภายในเวลาราชการ หรือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”