กรม อ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เผยผลสำรวจการเล่นของเด็กไทย ชี้ พ่อแม่ไทยควรเล่นกับลูกให้มากขึ้น ลดการใช้จอเลี้ยงลูก

กรมอนามัย เผยผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ครั้งที่ 6 (Multiple Indicator Cluster Survey 6 : MICS6) ในประเด็นการเล่นเด็กปฐมวัยร่วมกับพ่อแม่ จัดทำการสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูล โดยสำนักงาน สถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และกรมอนามัย พบว่า เด็กปฐมวัยไทย (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ร้อยละ 64 เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชี้ พ่อแม่ไทยควรเล่นกับลูกให้มากขึ้น ลดการใช้จอเลี้ยงลูกลง พร้อมประสานภาคี เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลงานวิจัยในระดับสากลชี้ชัดว่า การเล่นในเด็กปฐมวัย เช่น การเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ ดิน ทราย น้ำ ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ต่อบล็อกไม้ ฉีก ตัด ปะกระดาษ วิ่งเล่นในสนาม ปีนป่าย เล่นบทบาทสมมติ เล่นดนตรี ทำงานบ้าน และการอ่านหนังสือ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการกระตุ้นสมองให้เปิดรับการเรียนรู้ ผ่านความรู้สึกสนุก ก่อให้เกิดวงจรการเรียนรู้ และพัฒนาการรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา และช่วยเสริมทักษะการคิดเชิงบริหาร EF (Executive Function) ในการจัดการความคิด ความรู้สึก และการกระทำ การยืดหยุ่นทางความคิด การวางแผน ตั้งเป้าหมาย แก้ไขปัญหา เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่วัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พร้อมรับมือกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์

ทางด้าน ดร.นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS) เป็นการสำรวจระดับโลก การสำรวจนี้จัดทำต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 6 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพ ระหว่างประเทศ (IHPP) และกรมอนามัย เก็บข้อมูลใน 17 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีกลุ่มตัวอย่าง 8,856 คน ผลการสำรวจพบว่า เด็กปฐมวัยได้เล่นกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ร้อยละ 90.3 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 11 จาก 84 ประเทศ ที่มีรายได้ต่ำ หรือปานกลาง โดยการเล่นที่พบมากที่สุด คือ การเล่นกับเด็ก ร้อยละ 98 การพาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้าน ร้อยละ 97 และการหัดเรียกชื่อ นับเลขหรือวาดรูป ร้อยละ 95

ส่วนการเล่นที่พบน้อยที่สุด คือ การเล่านิทาน ร้อยละ 84 การร้องเพลง ร้อยละ 80 การอ่านหนังสือหรือดูสมุดภาพ ร้อยละ 78 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า การมีหนังสือสำหรับเด็ก ในครอบครัว อย่างน้อย 3 เล่ม ส่งผลต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยที่มากขึ้นถึง 3 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับการมีของเล่นในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นที่ต้องซื้อมา อาจจะเป็นการประดิษฐ์เองจากของใช้ในบ้าน ล้วนส่งผลต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยที่มากขึ้นถึง 1.5 เท่า แต่ในทางกลับกัน พบว่าเด็กปฐมวัย ร้อยละ 64 มีการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยระยะเวลาการใช้จอที่มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยที่ลดลง ถึงร้อยละ 50

ทางด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่ควรเล่นกับลูกให้มากขึ้น และลดการใช้หน้าจอลง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในหลายด้าน โดยกรมอนามัยพร้อมประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมการเล่นผ่านโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ด้วยการเติมเต็มการเรียนรู้ ผ่านการเล่นตามแนวคิด 3F ได้แก่ Family Free และ Fun และพัฒนา พื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกครอบคลุมทุกตำบล เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้พัฒนาตนเองผ่านการเล่น โดยการดำเนินงานในพื้นที่จากความร่วมมือกันระหว่างบ้าน/ครอบครัว สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย/หน่วยบริการสาธารณสุขสุข และชุมชน

นอกจากนี้ โครงการมีการพัฒนาผู้อำนวยการเล่น ผ่านหลักสูตรออนไลน์ www.mooc.anamai.moph.go.th ซึ่งปัจจุบัน มีผลการดำเนินงานผู้อำนวยการเล่น จำนวน 9,823 คน

กรมอนามัย / 18 มีนาคม 2565