ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (อธิบดี สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานมอบวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพ ประจำปี 2562 โดยมีนางวริยา สนิทวาที ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวฯ จังหวัดลำพูน กล่าวรายงาน พร้อมนำเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวฯ จังหวัดลำพูน
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ขับเคลื่อนภารกิจในด้านการพัฒนาศักยภาพสตรี มุ่งยกระดับสถานภาพสตรี สร้างครอบครัวเข้มแข็งบนพื้นฐานของสังคมแห่งสิทธิ โอกาส และความเสมอภาค ลดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “สตรีและครอบครัวมั่นคง สังคมเสมอภาค” สำหรับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวฯ จังหวัดลำพูน เป็น 1 ใน 8 ศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ภายใต้ สค. มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มสตรีและครอบครัว ในเขตพื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก และ แม่ฮ่องสอน โดยดำเนินการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่สตรีและครอบครัวที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนกลุ่มสตรีและครอบครัวที่ต้องการเพิ่มทักษะฝีมือในวิชาชีพด้านต่างๆ ให้มีทักษะ ความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และป้องกันมิให้ถูกล่อลวง หรือถูกชักจูงจากผู้แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ด้านการพัฒนาศักยภาพสตรี และการส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยครั้งนี้มีผู้สำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพรวมทุกประเภท จำนวน 340 คน ได้แก่ โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มเสี่ยงในสถาบัน จำนวน 160 คน ประกอบด้วย หลักสูตรระยะสั้น 1 เดือน ได้แก่ หลักสูตรขนมไทยและเครื่องดื่มสมุนไพร, หลักสูตรอาหารว่างและเครื่องดื่ม, หลักสูตรผ้าด้นมือ และหลักสูตรเบเกอรี่ หลักสูตรระยะสั้น 3 เดือน ได้แก่ หลักสูตรตัดผมชาย, หลักสูตรนวดดูแลสุขภาพ, หลักสูตรตัดเย็บเบื้องต้น และโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว (104 วัน) (ฝึกอาชีพในชุมน) จำนวน 6 กลุ่ม รวมจำนวน 180 คน ประกอบด้วย หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทอผ้าฝ้าย ตำบลก้อ, หลักสูตรการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร, หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทอผ้าจกโหล่งลี้, หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทอผ้ากะเหรี่ยงปักลูกเดือย, หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อ
“ผู้สำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพทุกคน” เป็นผู้ที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาทักษะอาชีพเฉพาะด้าน ก้าวสู่การยกระดับฝีมือแรงงานในระดับสากล สามารถประกอบอาชีพอิสระของตนเองได้ มีงานทำ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ตลอดจนมีรายได้จุนเจือครอบครัว ต่อยอดสร้างกลุ่มพัฒนาองค์กรและสร้างสรรค์ผลงานในชุมชนถิ่นกำเนิด “จากต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมชุมชน…สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มฐานเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย