วธ. เดินหน้าขับเคลื่อน soft power ด้านวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยสู่เวทีโลกผ่านสื่อบันเทิง เตรียมส่งภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารไทย ร่วมจัดฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์มอนตางยอซา ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 19 – 27 มี.ค.นี้ ที่ฟิลิปปินส์
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power”ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาล ประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก ล่าสุด วธ.ได้ผลักดันงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) สู่ระดับสากล โดย วธ. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งภาพยนตร์เรื่อง “ผัดไทย:สูตรลับลิขิตฝัน”(Pad thai:The Secret Recipe) เข้าร่วมจัดฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์มอนตางยอซา ประจำปี 2565 (The Montanosa Film Festival(MFF) 2022) ระหว่างวันที่ 19 – 27 มีนาคม 2565 ณ Baguio Creative City สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จะจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้จำนวน 3 รอบ
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า วธ.คัดเลือกภาพยนตร์เรื่อง “ผัดไทย:สูตรลับลิขิตฝัน” เนื่องจากมีเนื้อหาส่งเสริมและเผยแพร่ภาพลักษณ์ วัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะ“ผัดไทย”เป็นอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับนานาชาติและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากชาวต่างชาติโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นผลงานการกำกับของนายเชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ เมื่อปี 2564 บทประพันธ์โดย สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ และนักแสดงนำ ได้แก่ พลอยไพลิน ตั้งประภาพร จรรยาธนาสว่างกุล นันทวัน เมฆใหญ่และแดน บุรีรัมย์ มีความยาว 48 นาที ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เกิดจากความผลงานวิจัยในโครงการนวัตกรรมละครโทรทัศน์เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย 4.0 ของศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า การส่งภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมจัดฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์มอนตางยอซา ประจำปี 2565 เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ข้อ 2 การส่งเสริมพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ มาตรการเชิงรุกด้วยการเน้นนำเสนอภาพยนตร์ไทยและวีดิทัศน์ในตลาดต่างประเทศและการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทยในเวทีโลก ช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี