รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่บางระกำโมเดล

Featured Video Play Icon

โครงการบางระกำโมเดล ดำเนินการต่อเนื่องสู่ปีที่ 6 ผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกรผู้ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและประชาชนทั่วไป บางระกำโมเดลตอบโจทย์เกษตรพื้นที่ลุ่มต่ำลดผลผลิตเสียหาย สร้างรายได้เพิ่ม ปีนี้ดีเดย์เริ่มปล่อยน้ำเพื่อเตรียมการเพาะปลูกทุ่งบางระกำ 2.6 แสนไร่ ตั้งแต่ 15 มีนาคมนี้

 

วันที่ 14 มี.ค. 65 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ไป Kick Off การส่งน้ำเข้าระบบส่งน้ำ ในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้นเผยช่วยลดพื้นที่นาข้าวเสียหายจากน้ำหลาก เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการประมงภายหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ อีกทั้งบรรเทาอุทกภัยในเขตพิษณุโลกและสุโขทัย เพื่อลดผลกระทบผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ณ บริเวณคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว “ทุ่งบางระกำเป็น 1 ใน 11 ทุ่งที่กรมชลประทานปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมา โดยในปีนี้จะเริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้ทุ่งบางระกำพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 จนเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรประมาณ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ภายหลังที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว จะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขต จ.พิษณุโลก และตัวเมืองสุโขทัย รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับกรมประมง จัดหาพันธุ์ปลาน้ำจืดมาปล่อยเข้าทุ่งบางระกำ ช่วยสร้างอาชีพประมงให้เป็นรายได้เสริมกับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย และเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะระบายน้ำออกจากทุ่งโดยให้เหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงทำนาปรังต่อไป เป็นการประหยัดน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนหลักได้เป็นอย่างมาก”

 

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้ายว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการ “บางระกำโมเดล” ต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 6 ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ครอบคลุมอำเภอพรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ  โดยเกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงปัญหานาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหาย และยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ชาวนาในทุ่งบางระกำได้เป็นอย่างดี

 

ตลอดเวลาดำเนินโครงการบางระกำโมเดลตั้งแต่ปี 2560 ได้รับความพึงพอใจและการตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เนื่องด้วยช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในขณะเดียวกันช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย นับว่าโครงการบางระกำตอบโจทย์บรรเทาปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้ทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา

 

ด้ายนายสมศักติ์ บ่องเขาย้อย ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำประตูระบายน้ำบางแก้ว กล่าวว่า โครงการบางระกำโมเดล เป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรในพื้นที่ หลังจากมีโครงการบางระกำโมเดลตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ฤดูนาปี ได้ทำนาตั้งแต่เดือน เมษายนและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะมีน้ำหลากมา ในฤดูนาปรัง มีน้ำให้ทำนามีความมั่นคงเรื่องน้ำทำนา และในฤดูน้ำหลาก เดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม ยังได้ทำการประมงเป็นอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครอบครัว โดยจากเดิมฤดูนาปีกว่าจะได้เริ่มทำนาก็ต้องรอน้ำฝน เดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน เพาะปลูกไปแล้วฝนทิ้งช่วงเกิดความเสียหาย เมื่อใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณเดือนสิงหาคม หรือกันยายน น้ำหลากมาท่วมเสียหาย ไม่มีความมั่นคง ปลอดภัยในการประกอบอาชีพทำนา มีแต่ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ในฤดูนาปรังเกษตรกรที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีบ่อบาดาล ก็ทำนาได้เฉพาะบางส่วน แต่ทำนาไปแล้วน้ำมีไม่เพียงพอ เกิดความเสียหาย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการบางระกำโมเดลจะดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพในพื้นที่ลุ่มต่ำ เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป