วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ จากแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”

วันที่ 16 มีนาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2565” ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ให้แก่ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ มีผลงานการวิจัยวิจัยที่โดดเด่นทางด้านการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยของอาหารและการส่งออก ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”

ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น กล่าวว่า ผลงานวิจัยทางด้านเชื้อดื้อยานั้น มาจากแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่เน้นการศึกษาสถานการณ์และข้อมูลเชิงลึกในระดับพันธุกรรมที่รวมถึงกลไกการดื้อยา การถ่ายทอดยีนดื้อยา การคัดเลือกร่วม การดื้อข้ามและการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยา เพื่อแก้ปัญหา “เชื้อดื้อยา” ในคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยโครงการวิจัยเริ่มจากประเทศไทย ขยายไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน เอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงแอฟริกา ซึ่งการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงจำเป็นต้องจัดการทั้งระบบ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลเป็นทางออกที่สำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างการใช้ยาต้านจุลชีพและเชื้อดื้อยา

สำหรับ “เชื้อดื้อยา” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งการศึกษาวิจัยเชื้อดื้อยาในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่เชื่อมโยงสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบปศุสัตว์ของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลงานวิจัยครอบคลุมการเฝ้าระวังในระดับฟีโนไทป์และจีโนไทป์ ศึกษาข้อมูลเชิงลึกในระดับพันธุกรรม โดยพบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาที่แยกได้จากปศุสัตว์ เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำและคน รวมทั้งความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาในประเทศไทย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังและติดตามการดื้อยาปฏิชีวนะระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน และยังเป็นการเชิดชูนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัย นักประดิษฐ์เกิดการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะการผลิตผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถผลักดันการใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง