วันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย และนางประเสริฐ ท้วมมา ประธาน อสม. อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี แถลงข่าว “ชุมชนปลอดภัย จัดงานปลอดโควิด ด้วยมาตรการ COVID Free Setting”
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยกว่า 20,000 คนต่อวัน จากรายงานการสอบสวนโรครายวัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 จนถึง 15 มีนาคม 2565 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ จากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนพบในงานศพสูงที่สุด ถึงร้อยละ 56 รองลงมาเป็น งานแต่งงาน งานบุญ และงานบวช ตามลำดับ สอดคล้องกับผลการสำรวจอนามัยโพลในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ถึงเหตุการณ์หรือความเสี่ยงที่พบเห็นในบริเวณพื้นที่อาศัย จากผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 18,000 คน พบว่า ร้อยละ 27 มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่แออัด ไม่มีการเว้นระยะห่าง รวมถึงพบเห็นผู้คนที่ไม่สวมหน้ากาก หรือสวมหน้ากากที่ไม่ถูกต้อง ร้อยละ 24 พบการรวมกลุ่มตั้งวงดื่มเหล้า หรือเล่นการพนันในพื้นที่ชุมชน แสดงให้เห็นว่า การจัดกิจกรรมในชุมชนยังมีการละเลยมาตรการความปลอดภัยในการจัดงานอยู่บ้าง
“จึงขอเน้นย้ำความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ดังนี้
1) มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่แออัด และมาจากหลากหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความเสี่ยงส่วนตัวที่ต่างกัน โดยเฉพาะการได้รับวัคซีน
2) มีการดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อมีอาการเมาอาจสูญเสียสติสัมปชัญญะ เพิ่มโอกาสในการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ได้
3) มาตรการส่วนบุคคล DMHTA มีความย่อหย่อน เช่น กินอาหารแบบรวมกัน พฤติกรรมตะโกน เชียร์ ร้องเพลง หรือตั้งวงเล่นการพนัน รวมถึงการถอดหน้ากากเป็นระยะ ๆ
ภายในการจัดงานเป็นความประมาทที่คิดว่าเป็นคนกันเอง น่าจะปลอดภัย ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำการปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้แสดง อาการที่รุนแรงเป็นผลมาจากสายพันธุ์โอมิครอน และผลจากการได้รับวัคซีน ทำให้ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการที่น้อยมาก การป้องกันในทุกด้านและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนปลอดภัย ลดความเสี่ยงโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านสุขาภิบาล) กรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการ COVID FREE Setting ขอให้เน้นการจัดงานเพื่อความปลอดภัย ด้วยหลัก 3 ป. คือ
1) ประเมินความเสี่ยงกิจกรรมหรือรูปแบบงาน ได้แก่ ความหนาแน่นของจำนวนผู้ร่วมงานหรือการเว้นระยะห่าง การพูดคุย การสวมหน้ากากและการระบายอากาศ ซึ่งหากพบกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
2) ปรับ ถ้าประเมินว่ามีความเสี่ยง ควรปรับตามมาตรการความปลอดภัย COVID FREE Setting ทั้ง 3 ด้าน โดยขอให้เจ้าภาพ ผู้จัดงาน เลือกสถานที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมหรือจุดเสี่ยงต่าง ๆ จัดสถานที่สำหรับล้างมือ เลี่ยงหรืองดกิจกรรมที่มีลักษณะที่มีการใกล้ชิดกัน หรือเน้นการจำกัดจำนวนคนในบางกิจกรรม รวมทั้ง ผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมทั้ง ประเมินความเสี่ยงตนเองด้วย Thai Stop COVID Plus หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงควรงดไปร่วมงาน
3) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน DMHTA ในระหว่างร่วมงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หลังจากเข้าร่วมงาน ควรเฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 10 วัน
ทางด้าน นางประเสริฐ ท้วมมา ประธาน อสม. อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จากการปฏิบัติงานในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในชุมชน ที่ผ่านมามีทั้งงานบวช งานแต่งงาน และงานทำบุญบ้าน โดยกระบวนการทำงานของอสม. คือ เมื่อผู้จัดงานได้ทำการติดต่อวัดแล้ว เจ้าอาวาสหรือพระจะติดต่อมาที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรืออสม.ในพื้นที่ เมื่อมีการรับทราบถึงการจัดงาน จะมีการกระจายข่าวผ่านช่องทางไลน์เพื่อให้อสม.ท่านอื่นได้รับทราบ เพื่อจัดเวรปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองอย่างน้อย 2 จุด พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในงาน เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญ คือ สติ๊กเกอร์ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ในการผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว รวมทั้งจัดให้มีสมุดลงทะเบียนผู้ที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแจ้งผู้เข้าร่วมงาน กรณีพบผู้ติดเชื้อ จะมีการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเหมาะสมต่อไป
***
กรมอนามัย / 16 มีนาคม 2565