24-26 มีนาคม 2562, ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และคณะ เข้าร่วมงาน 2019 SMART CITY SUMMIT & EXPO และงานประชุม 2019 World System Integrator Conference ซึ่งจัดโดย Institute for Information Industry (III) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ Industrial Development Bureau, Ministry of Economic Affairs (IDB) ไต้หวัน โดยงานดังกล่าวถือเป็นงานประชุมและแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี IoT เพื่อการจัดการเมืองอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวันและในภูมิภาคเอเชีย โดยมีผู้ประกอบการร่วมจัดแสดงงาน 337 ราย บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร โดยมีผู้เข้าชมงานประมาณ 100,000 คน
ดร.กษิติธร ได้แสดงวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำ Smart City ระดับภูมิภาค ASEAN ร่วมกับผู้แทนจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลอินเดีย ผ่านเวที 2019 World System Integrator Conference ซึ่งมีผู้เข้าฟังการบรรยายประกอบด้วยผู้แทนเมือง บริษัทภาคเอกชนผู้พัฒนาเทคโนโลยี และสถาบันต่างๆ กว่า 300 คน จาก 20 ประเทศ โดยดีป้า เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างศักยภาพให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2019 ซึ่งประเทศไทยจะใช้โอกาสในการเป็นประธานอาเซียนผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ ASEAN Smart City Network (ACSN) ให้เกิดการพัฒนาร่วมกันระหว่างเมืองอัจฉริยะต่างๆในภูมิภาคทั้ง 26 เมือง นอกจากนี้ดีป้ายังร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ Institute for Information Industry และ สมาคมไทยไอโอที เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างประเทศอีกด้วย
นอกเหนือจากการจัดแสดงนวัตกรรมของภาคเอกชนไต้หวันและนานาชาติที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อจัดการเมืองอัจฉริยะในด้านต่างๆ เช่น การจราจร สิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ สาธารณสุข และการชลประทานที่ประสบความสำเร็จในไต้หวันแล้ว ผู้จัดงานยังได้นำเสนอสวนสาธารณะอัจฉริยะต้นแบบ Da’an Smart Park ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลท้องถิ่นได้มอบหมายให้บริษัทเอกชนเป็นผู้พัฒนาระบบจัดการสวนสาธารณะต้นแบบครบวงจร ประกอบด้วย ระบบจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ระบบเตือนภัย และระบบให้ข้อมูลต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองในการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในเมืองต่างๆในไต้หวัน โดยในปัจจุบันไต้หวันประสบความสำเร็จในการผลักดันเมืองอัจฉริยะใน 7 พื้นที่ ภายใต้การพัฒนาใน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) การมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงท้องถิ่น (2) การสร้าง 4P model (Public-Private-People Partnership) (3) การพัฒนาผ่าน field testing อย่างมีส่วนร่วมทั้งในระดับนโยบาย (Top-down) และ ระดับท้องถิ่น (Bottom-up) และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน