กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทลายเครือข่ายขายใบรับรองผลตรวจโควิดปลอม พร้อมรวบผู้ต้องหา 3 ราย เบื้องต้นสั่งฟันโทษใน 4 ข้อหา ทั้งปลอมเอกสาร ปลอมเครื่องหมายแลป และหมอเถื่อน
วันที่ 16 มีนาคม 2565 อาคารกองบังคับการปราบปราม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครฯ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี กรม สบส.ร่วมแถลงข่าวการบุกทลายเครือข่ายผลิต และจำหน่ายใบรับรองผลตรวจโควิดปลอม
นพ.ธเรศฯ เปิดเผยว่า ตามที่ กรม สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีเครือข่ายกระทำการจำหน่ายเอกสารใบรับรองผลตรวจโรคโควิด 19 ปลอม จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยพบว่ามีเครือข่ายผู้กระทำผิดอยู่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครฯ และต่างจังหวัด ดังนั้น กรม สบส.และตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.จึงได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมจนนำไปสู่การออกหมายจับ ผู้กระทำผิด 3 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ใน จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครฯ
ซึ่งแต่ละคนจะมีการแบ่งหน้าที่กันดำเนินการ เช่น จัดทำเว็บไซต์ โฆษณาเชิญชวนประชาชน จัดหาบัญชีของผู้อื่น (บัญชีม้า) มารับเงิน/ยักย้ายถ่ายเงิน และปลอมแปลงเอกสารตรวจรับรองผลการตรวจโรคโควิด 19 ฯลฯ โดยพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหาจะมีการจัดทำเว็บไซต์ซึ่งแอบอ้างชื่อห้องปฏิบัติการ หรือแลปตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาโฆษณาหลอกลวงประชาชนว่าสามารถออกเอกสารรับรองผลตรวจรับรองโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนได้ภายใน 15 นาที เพื่อนำไปใช้ยืนยันตนในการเดินทางหรือสมัครงาน โดยที่ประชาชนไม่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคแต่อย่างใด จึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดเบื้องต้น 4 กระทง แก่ผู้กระทำผิดโดยทันที ประกอบด้วย
1.ร่วมกันปลอมแปลงและใช้เอกสารปลอม
2.ร่วมกันใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพแพทย์สาขาต่างๆ
3.ร่วมกันให้บริการหรือเสนอให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือปลอมเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร
4.ร่วมกันประกอบวิชาชีพนักเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่ได้รับอนุญาต
พร้อมกันนี้จะมีการประสานไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดผู้ต้องหาตามกฎหมายโรคติดต่ออีกด้วย
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า การปลอมแปลงเอกสารการเอกสารรับรองผลตรวจโรคโควิด 19 เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่ออันตราย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียเงินทองโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งบุคคลใกล้ชิดก็อาจจะเกิดอันตรายจากโรคโควิด 19 ไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นผู้ที่มีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันภาครัฐก็จัดสรรวัคซีนให้เพียงพอต่อประชาชน
จึงขอแนะนำให้ประชาชน หรือบุคคลในครอบครัวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง และบุคคลใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็น หรือมีเบาะแสการลักลอบจำหน่าย หรือปลอมแปลงเอกสารทางการแพทย์โดยบุคคล หรือสถานพยาบาล สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 กรม สบส.เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
************* 16 มีนาคม 2565