กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนการดื่มสุราไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แนะหันมาดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ สวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ งดการรวมกลุ่มและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่คนแออัด
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มสุราจะทำให้ไม่ติดเชื้อโควิด-19 และให้ผลดีกว่าการออกกำลังกาย ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่ม สุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยพิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย ในผู้ที่ดื่มสุราอย่างมีความเสี่ยง
ซึ่งหมายถึงผู้ที่ดื่มมากกว่าตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปและดื่มวันละมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ 1.5 กระป๋อง, เหล้าแดง 4 ฝา, ไวน์ 2 แก้ว, เหล้าขาว 2 เป๊ก จะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง ระบบความจำบกพร่อง สับสนไม่รู้วัน เวลา สถานที่ สมองเสื่อม มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำอะไรตามใจตามอารมณ์ ทั้งนี้ในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด19 ได้ง่าย และหากมีการรวมกลุ่มเพื่อดื่มสุรา ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19ได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเข้าใจว่าการดื่มสุราจะทำให้ไม่ติดเชื้อโควิด -19 เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะพบผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มสุรา ติดเชื้อโควิด – 19 ในผู้ป่วยที่มีอาการถอนสุรารุนแรง ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด บางรายต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง มีความเสี่ยงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตสูงเมื่อเทียบกับคนไข้ที่ไม่มีประวัติดื่มสุรา
ซึ่งการดื่มสุราไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพของผู้ดื่มเลย ในทางตรงข้ามกลับยิ่งส่งผลเสียต่อตัวผู้ดื่ม สูญเสียเงินทองไปกับการซื้อหาสุรามาดื่ม สูญเสียโอกาสในการทำงาน เตือนประชาชนทั่วไป หากอยากมีร่างกายที่แข็งแรง และปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด – 19 ต้องหันมาดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ งดการรวมกลุ่มและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่คนแออัด
ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี