กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) พร้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และเครือข่ายทางวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย เผยแพร่ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ให้เด็กเยาวชนได้ร่วมสืบสาน รักษาและต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่น ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๔ จังหวัดพะเยา
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ทำหน้าที่ประธานกล่าวเปิดงาน โครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร กิจกรรม “ส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๔ โดยได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ ๔ ท่าน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้แก่ นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นายพิบูลศักดิ์ ลครพล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ และเครือข่ายทางวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ร่วมงาน
กิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรม ศิลปะและประเพณีของท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ๒๐๑๙ ให้วัฒนธรรมและประเพณีได้รับการเผยแพร่ปลูกฝังให้เด็ก นักเรียนเยาวชนในพื้นที่ได้เกิดความรัก หวงแหน มีส่วนร่วมในการสืบสาน รักษาและต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนสืบไป โดยกิจกรรมในงาน ซึ่งจัดระหว่างวันที่ ๑ – ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ประกอบด้วย
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย โดยศิลปินแห่งชาติ ๓ สาขา คือ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง พร้อมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยกิจกรรม ๔ ฐาน ได้แก่ ฐานการศิลปะการแสดง วิทยากร ฐานศิลปะการถ่ายภาพ ฐานวรรณศิลป์ และฐานจิตรกรรม โดยมีนักเรียนและครู จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๔ จังหวัดพะเยา เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมประมาณ ๔๐๐ คน ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างในการป้องกันโรค COVID 2019 อย่างเคร่งครัด เช่น ผ่านการคัดกรอง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าร่วมกิจกรรม
ภายในงานยังมีกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกหลากหลาย อาทิ การวาดภาพสีน้ำ การถ่ายภาพ การทำต่างหูจากดินญี่ปุ่น การทำที่ติดตู้เย็นลายไม้ การทำภาพพิมพ์บนเสื้อ การทำภาพพิมพ์บนถุงผ้า และการทำภาพพิมพ์บนผ้ากันเปื้อน พร้อมกิจกรรมการสาธิตต่าง ๆ ได้ร่วมชมและชิม ประกอบด้วย การทำแกงฮังเล การทำหลนเต้าเจี้ยว การทำแกงเผ็ดหมู การทำยำไก่ใส่เห็ด การทำขนมบวดเผือก
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการแสดงทางวัฒนธรรมที่งดงามชุด “นาฏกรรมรำไทย ผสานสมัยไทล้านนา” ประกอบด้วย กลองสะบัดชัย การแสดงอัคคีบูชา การแสดงชาติพันธ์ผสานสุข การแสดงโขนตอน กลทศพักตร์ลักสีดา และการแสดงโขนตอน รามาวตารได้พลลิง เป็นต้น