ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วง “ผู้สูงอายุ” เสียชีวิตจากโควิดมากกว่ากลุ่มอื่น เร่งจัดสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 วันที่ 21-31 มีนาคมนี้ เน้นฉีดเข็มกระตุ้น พร้อม เปิดทางให้เลือกฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 แบบครึ่งโดสได้ ช่วยลดผลข้างเคียง ส่วนลูกหลานแนะทำตัวเองให้ปลอดเชื้อ 1 สัปดาห์ก่อนกลับบ้านสงกรานต์ งดรวมกลุ่มสังสรรค์/ไปสถานที่แออัด และตรวจ ATK ก่อนเดินทาง
วันที่ 15 มีนาคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป มีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 7.5% โดยวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 70 ราย พบว่า 47 ราย อายุเกิน 70 ปี ขณะที่ 52 รายได้รับวัคซีนไม่ครบ ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งประเทศ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มแรกแล้ว 83% เข็มสอง 78.8% ส่วนเข็มสามฉีดได้เพียง 32% จึงต้องเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 หากฉีดครอบคลุมได้มากขึ้นจะช่วยลดอัตราป่วยและเสียชีวิตลงได้ โดยช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสร้างความปลอดภัยแก่กลุ่มนี้ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การจัดสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 (save 608) ระหว่างวันที่ 21-31 มีนาคม 2565 โดยจะเน้นการฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงการฉีดเข็มแรกและเข็มสอง โดยจะเร่งฉีดให้ได้มากที่สุด
“แต่ละจังหวัดมีการฉีดเข็มสามในผู้สูงอายุไม่เท่ากัน บางจังหวัดได้มาก บางจังหวัดยังได้น้อย ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขวางเป้าหมายการฉีดวัคซีนแต่ละจังหวัดให้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาจากศักยภาพการฉีดในช่วง 10 วันที่จะรณรงค์ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อาจมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน จะเปิดให้เลือกรับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 แบบครึ่งโดสได้ ซึ่งยังกระตุ้นภูมิได้ดีแต่จะช่วยลดปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนเข็ม 4 ก็สามารถเลือกฉีดไฟเซอร์แบบครึ่งโดสได้เช่นกัน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับอีกเรื่องคือ การแนะนำให้ลูกหลานที่จะเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ทำตัวเองให้ปลอดจากเชื้อโควิด 19 (Self Clean Up) โดยระมัดระวังตนเองช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ ไม่ควรรวมกลุ่มสังสรรค์ พบปะผู้คนจำนวนมาก หรือเข้าไปยังสถานที่เสี่ยง/แออัด และก่อนเดินทางกลับควรตรวจ ATK เพื่อคัดกรองตนเองให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ลดความเสี่ยงนำเชื้อกลับไปแพร่ให้ผู้สูงอายุที่บ้าน
********************* 15 มีนาคม 2565