ชป.ยืนยัน ย้ำทุกโครงการฯ เน้นการบริหารจัดการน้ำเเบบประชาชนมีส่วนร่วม คือ คำตอบของการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าว เขื่อนไม่ใช่คำตอบ ในการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งจากสถานการณ์ปัญหาน้ำแล้งที่ได้ลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่ ทำให้บางพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าปกติ ทั้งในลุ่มน้ำที่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำต่างๆ บางพื้นที่ต้องหวงแหนน้ำ บางพื้นที่ต้องขอน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำหลักมากมาย แต่ทำไมการบริหารจัดการน้ำถึงยังไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากนั้น

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กรมชลประทาน ได้มีการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งทุกโครงการที่ได้ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขื่อนยางนาดี เขื่อนลำสะพุง จ.ชัยภูมิ ประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย ประตูระบายน้ำน้ำก่ำ จ.สกลนคร โดยทุกโครงการมีการจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกับประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

สำหรับกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ที่ได้กล่าวอ้างว่า ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศลุ่มน้ำ ขอชี้แจงว่า ในส่วนของเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา นั้น  กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ ในส่วนของเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย-พนมไพร ยังอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นเพียงโครงการประเภทประตูระบายน้ำกั้นขวางแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยการควบคุมการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำในปริมาณมากได้ เป็นเพียงการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งเพียงบางส่วนเท่านั้น

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีการวางแผนจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในแต่ละพื้นที่ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งยืนยันได้ว่าในพื้นที่ชลประทาน จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค หรือที่เรียกกันว่าน้ำกินน้ำใช้อย่างแน่นอน ส่วนภาคการเกษตรให้ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน(JMC) ของแต่ละโครงการฯ ซึ่งมีผู้แทนจากภาคเกษตรกรมากกว่าครึ่งหนึ่งร่วมเป็นกรรมการ เพื่อตัดสินใจร่วมกันว่าจะจัดสรรน้ำให้กับภาคการเกษตรได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำในประเทศ แก้ไขบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ภายใต้การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกพื้นที่ในประเทศ ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร สนับสนุนการเพิ่มผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านชีวิต โดยการเพิ่มพื้นที่ชลประทานและประสิทธิภาพการกระจายน้ำของระบบชลประทานอย่างทั่วถึง เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต

ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำต่างๆ จึงเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านน้ำ โดยมีขั้นตอนก่อนการก่อสร้างแต่ละโครงการฯ หลายขั้นตอน ประกอบไปด้วย การศึกษาสำรวจออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศ เพื่อให้การใช้พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือEIA ก่อนการดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกแบบโครงการฯ พร้อมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามีส่วนรวมในการรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง จึงก่อให้เกิดวิกฤติทางน้ำ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและในหลายพื้นที่ยังเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ “เขื่อน”จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างถาวรและเป็นรูปธรรม เพราะเขื่อนจะทำหน้าที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยเก็บน้ำไว้ทางด้านเหนือเขื่อนและระบายน้ำออกทางด้านท้ายเขื่อน ส่วนในฤดูแล้งน้ำที่เก็บกักไว้สามารถส่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรกรรม ตลอดจนสามารถช่วยบรรเทาปัญหาด้านอุทกภัย ป้องกันน้ำท่วมฉับพลันในฤดูน้ำหลากหรือช่วงมรสุม โดยเขื่อนจะทำหน้าที่ชะลอความเร็วของน้ำ ให้น้ำไหลผ่านได้เฉพาะตามปริมาณที่เหมาะสมดังจะเห็นได้จากพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจึงเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมหลากได้ ทั้งยังลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย